วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จิตวิทยาสมัยใหม่ผสานการนั่งสมาธิช่วยบำบัดคนไข้

เสียงเทปบทสวดของพระทิเบตที่เปิดให้คนไข้ฟังขณะนั่งรอพบจิตแพทย์ในแมนฮัตตั้น ฟังแล้วเหมือนไม่ได้อยู่ที่นิวยอร์ค  ที่นี่เป็นสำนักงานใหญ่ของสถาบันนาลันดาเพื่อศาสตร์ด้านการทำสมาธิ (Nalanda Institute for Contemplative Science) จิตแพทย์ โจเซฟ โลอิซโซ ผู้อำนวยการสถาบันและผู้ก่อตั้ง เรียนจบปริญญาเอกด้านพุทธศาสนาศึกษา หนังสือเล่มใหม่ที่เขาเขียนชื่อ Sustainable Happiness หรือ ความสุขที่ยั่งยืน เสนอข้อมูลความรู้ที่เขาใช้เวลาหลายสิบปีในการวิจัยและบำบัดคนไข้ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านจิตวิทยาดั้งเดิม ประสาทวิทยาสมัยใหม่ กับพุทธศาสนา


จิตแพทย์โลอิซโซ กล่าวว่ามนุษย์เราถูกสร้างให้ปรับตัวเข้ากับชีวิตในธรรมชาติ แต่อารยธรรมที่เราสร้างขึ้นกลายเป็นกรอบกำหนดให้ชีวิตมนุษย์ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เขาเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุให้คนส่วนใหญ่เกิดความเครียด เขายกตัวอย่างกรณีความเครียดที่เกิดจากการทำงาน เจ้านายสั่งให้ส่งงานตามเวลากำหนดแต่คุณกังวลว่าอาจจะทำไม่เสร็จ เกิดอาการหายใจลำบาก เหงื่อออกที่มือ เกิดความเหนื่อยล้า
ความเครียดที่เกิดขึ้น ในระยะยาว นำไปสู่อาการซึมเศร้า อาการเครียดเรื้อรัง ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ จิตแพทย์โลอิซโซ กล่าวว่า นี่ทำให้เขาผสมผสานการนั่งสมาธิและแนวทางการปฏิบัติในศาสนาพุทธเข้ากับการบำบัดรักษาผู้ป่วย การจดจ่อที่ลมหายใจเข้าออกและการเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด ความรู้สึก และความอยาก ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ช่วยลดความเครียดลงได้และยังเป็นเทคนิคที่ช่วยการฝึกสมองเสียใหม่
 จิตแพทย์โลอิซโซ กล่าวว่าหากเรามีสติ เราจะสามารถเข้าใจหลายๆสิ่งหลายๆอย่างได้ชัดเจนขึ้น ช่วยให้ตนเองกำจัดความเข้าใจผิดและควบคุมไม่ให้แสดงปฏิกริยาตอบสนองที่เกินเหตุต่อเหตุการณ์ต่างๆ เลือกที่จะมองข้ามสิ่งที่รบกวนจิตใจเหล่านั้น มองหาทางออกอย่างอื่น และพยามยามมองให้ทะลุปรุโปร่งว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญคนนี้กล่าวว่า การนั่งสมาธิเป็นเทคนิคที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางจิตและสมองเพื่อช่วยให้คนเรามีความสุขและปลอดจากความเครียด

แนวทางบำบัดทางจิตแบบผสมผสานนี้ช่วยผู้ป่วยหลายคนของจิตแพทย์โลอิซโซมีอาการดีขึ้น รวมทั้งชายคนนี้ ผู้ป่วยคนนี้กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า เขามีปัญหาโรคซึมเศร้า การบำบัดกับจิตแพทย์โลอิซโซช่วยให้เขาสามารถปรับตัวและเข้ากับคนอื่นรอบข้างได้ดีขึ้น

การฝึกจิตให้มีสติยังเป็นวิธีที่ได้ผลดีในการรักษาโรคอื่นๆด้วย ยกตัวอย่าง ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่โรคเข้าสู่ภาวะสงบ จิตแพทย์โลอิซโซ ได้ทำโครงการทดลองฝึกทำสมาธิและการพูดคุยแบบกลุ่มนานยี่สิบสัปดาห์แก่ผู้ป่วยหญิงหกสิบคนภาย

ภายหลังการฝึก ผู้เข้าร่วมโครงการเกือบทุกคนบอกว่ารู้สึกกังวลน้อยลงและมีความหวังในชีวิตมากขึ้นและนั่นคือเป้าหมายของการสร้างความสุขที่ยั่งยืนตามแนวคิดของจิตแพทย์โจเซฟ โลอิซโซ่ ที่ผสมผสานจิตวิทยาแบบโลกตะวันตกกับการปฏิบัติทางจิตวิญญาณจากโลกตะวันออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น