วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ร่างแผนปฏิบัติการระบบยาแห่งชาติพ.ศ.2555-2559

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เห็นชอบวาระที่เสนอพิจารณา 3 เรื่องได้แก่ 
  • ร่างแผนปฏิบัติการ 5 ปี ตามยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 
  • ร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย 
  • ร่างหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางยา 
นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป โดยตั้งเป้าจะให้คนไทยทุกระบบหลักประกันเข้าถึงและใช้ยาอย่างมีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศลงให้ได้ร้อยละ 5 ข้อมูลล่าสุดในปี 2553 คนไทยบริโภคยาสูงกว่า 140,000 ล้านบาท

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการยาดังกล่าวประกอบด้วยหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพต่างๆ ว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบยาของประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกระบบหลักประกันได้รับประโยชน์สูงสุด มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล คุ้มค่าและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ผลสรุปของที่ประชุมวันนี้ ได้เห็นชอบ 3 เรื่อง ได้แก่ 
  1. ร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559
  2. ร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย 
  3. ร่างหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางยา ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป 

นายวิทยา กล่าวว่า ร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 
  1. ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยา จะให้มีระบบและกลไกการควบคุมราคายาตั้งแต่การแสดงโครงสร้างราคายา การกำหนดราคา และการแสดงราคายา เป็นมาตรฐานของประเทศ 1 ระบบ มีระบบการคัดเลือกและจัดหายาจำเป็นด้านสาธารณสุขของประเทศที่มีปัญหาการเข้าถึงยาหรือมีปัญหาขาดแคลน รวมถึงยากำพร้า การกระจายยาทั้งในภาวะปกติและเกิดภัยพิบัติ เพิ่มจำนวนรายการยาจำเป็น ที่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเข้าไม่ถึงในทุกระบบประกันสุขภาพอย่างน้อยอีก 20 รายการ 
  2. ยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล จากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขในปี 2554 ไทยมีมูลค่าการบริโภคยาภายในประเทศ 144,570 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ35 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ องค์การอนามัยโลกมีข้อสรุปว่าการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศต่างๆในวงกว้าง ส่งผลเสียต่อการรักษาผู้ป่วย เกิดปัญหาอาการไม่พึงประสงค์จากยาและทำให้ปัญหาเชื้อดื้อยาสูงขึ้น ในการแก้ไขปัญหานี้มีเป้าหมายสำคัญ อาทิเช่น จะลดค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศลงให้ได้ร้อยละ 5 จัดทำมาตรฐานการบำบัดรักษาโรคของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในทุกระดับภายใน 3 ปี ให้มีการใช้บัญชียาหลักแห่งชาติในการกำหนดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ จัดหลักสูตรการศึกษาและการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรผู้สั่งใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และหลักสูตรสำหรับนักเรียนและนักศึกษาทั่วไปภายใน 3 ปี ลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลลงให้ได้ร้อยละ 50 เป็นต้น เป็นต้น 
  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยา สมุนไพรและชีววัตถุ ในประเทศเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนและมั่นคง มีเป้าหมาย เช่น เพิ่มการบริโภคยาสามัญใหม่ที่ผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ภายใน 3 ปี และเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ภายใน 5 ปี เพิ่มรายการยาสามัญรายการใหม่ที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 30 รายการ สร้างความเชื่อมั่นต่อยาชื่อสามัญและยาสมุนไพรจากแพทย์ และจากประชาชนอย่างน้อยร้อยละ80 เป็นต้น 
  4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการควบคุมยา เพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา มีเป้าหมายสำคัญเช่นจะพัฒนาผู้ประเมินทะเบียนตำรับยาภายในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.ให้มีมาตรฐาน ตามระบบคุณภาพภายใน 3 ปี ให้ได้ร้อยละ 70 และครบทั้งหมดภายใน 5 ปี พัฒนาระบบการเฝ้าระวังคุณภาพยาหลังออกสูตลาดของประเทศ ตั้งแต่การกำหนดยาที่ต้องเฝ้าระวัง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการใช้ฐานข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง ให้ได้ภายใน 3 ปี ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาระบบควบคุมยาอย่างน้อยปีละ 1 ฉบับ พัฒนาระบบรหัสมาตรฐานยาแห่งชาติให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี และครบทั้งหมดภายใน 5 ปี 

สำหรับร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือขยายเพิ่มเติมได้มี 7 หมวดได้แก่
  1. คำนิยาม
  2.  ผู้สั่งใช้ยา เช่นกำหนดให้ไม่พึงรับผลประโยชน์จากผู้แทนยาหรือบริษัทยา เช่นของขวัญ ตัวอย่างยา และผู้สั่งใช้ยาไม่พึงแสดงตนในการโฆษณาหรืส่งเสริมการขายยาใดๆในเชิงธุรกิจ และให้สั่งใช้ยาด้วยชื่อสามัญทางยา เป็นต้น 
  3. ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจ เช่นต้องไม่รับผลประโยชน์จากบริษัทยาหรือผู้แทนยา ต้องจัดใหม่ระบบการคัดเลือกยา การจัดซื้อยา ที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้ได้ยามีคุณภาพสูง เป็นต้น 
  4. เภสัชกร กำหนดห้ามเผยแพร่เอกสาร แผ่นป้ายที่มีเนื้อหาเชิงโฆษณา อวดอ้างยา การจ่ายยาตัวอย่างให้ประชาชนต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับเป็นสำคัญ 
  5. บริษัทยาและผู้แทนยา กำหนดให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ต้องไม่กำหนดผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักของผู้แทนยาแต่ละรายโดยขึ้นอยู่กับยอดขายยาของผู้แทนยารายนั้น 
  6. สถานพยาบาล สถานบริการเภสัชกรรมหริหน่วยงาน กำหนดให้จัดทำแนวปฏิบัติของบุคลากรแต่ละประเภทที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน เช่นห้ามผู้สั่งใช้ยา เภสัชกรนำตัวอย่างยามาจ่ายให้ผู้ป่วย 
  7. สถานศึกษา เช่นห้ามอนุญาตให้ผู้แทนยาเข้าพบนักศึกษา เพื่อการโฆษณายาหรือส่งเสริมการขายยา ควบคุมดูแลให้อาจารย์และบุคลากรสถานศึกษาปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างอันดีแก่นักศึกษา เป็นต้น 

ส่วนร่างหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางยา ซึ่งยังไม่เคยประกาศใช้มาก่อนในประเทศ จะนำมาใช้เป็นกรอบในการจัดซื้อยาของหน่วยงานภาครัฐทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ซึ่งไม่ใช่ราคาต่ำสุด เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถซ้อได้ ผู้ขายสามารถแข่งขันและขายได้ในราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพยา รายการยาที่สภากาชาดไทยผลิตเพียงผู้เดียว ให้ใช้ราคากลางตามที่สภากาชาดกำหนด เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น