วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลดำเนินงานตามนโยบายยาเก่าแลกไข่

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าโครงการไข่แลกยาเก่า ว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าขณะนี้ได้รับยาเก่าคืนเข้าสู่ระบบแล้ว 2 ล้านเม็ด เป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นจิตสำนึกในการใช้ยา โดยให้นำยาหมดอายุและยาใหม่ที่ไม่ได้ใช้แล้วมาแลกไข่ เนื่องจากการบริโภคยาของประชาชนไทยที่ผ่านมา มีมูลค่าปีละนับแสนล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เริ่มที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งทั่วประเทศซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่สุด เบื้องต้นนี้จะมีการจัดคูปองแลกไข่เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณยา ยาที่รับคืนมาจะมีการตรวจสอบ หากพบว่าหมดอายุหรือเสื่อมสภาพจะนำไปทำลาย โครงการนี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศได้หลายพันล้านบาท อย่างน้อยผู้ที่มียาอยู่แล้วไม่ได้ใช้ ก็สามารถส่งคืนสถานบริการเพื่อใช้ประโยชน์ หรือเก็บทิ้งเนื่องจากหมดอายุ นายวิทยากล่าวต่อว่า ยาที่เก็บคืนมาได้บางชนิดเป็นยาที่มีราคาแพงเช่นยาลดไขมันในเลือด เมื่อผู้ป่วยหมดความจำเป็นในการใช้ก็นำมาส่งคืน หรือในกรณีที่ยังใช้ยาชนิดนั้นอยู่ก็นำยาที่เหลือไปเมื่อพบแพทย์ครั้งต่อไป เพื่อให้รับยาเพิ่มจำนวนพอดีกับวันนัด ก็จะประหยัดการใช้ยาได้ หากประเมินผลหลังวันที่ 5กรกฎาคมแล้วพบว่ายังมียาจากประชาชนส่งคืนอีกก็อาจจะขยายโครงการต่อไป

ด้านนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างปฏิบัติราชการที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า นโยบายยาเก่าแลกไข่ เป็นการแก้ไขปัญหาการใช้ยาของประชาชนที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย โดยสถิติประชาชนไทยใช้ยาเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด บางส่วนซื้อจากร้านขายยา บางส่วนไปรับยาจากสถานบริการของรัฐ บางครั้งรับมาแล้วไม่ได้ใช้ยาตามแพทย์สั่ง หรือเป็นโรคเดียวแต่ไปรักษารพ.หลายแห่ง ทำให้มียาเหลือค้างอยุ่ที่บ้าน ทำให้สูญเสียเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดที่จะเริ่มปรับการใช้ยาของประชาชน โดยจะเริ่มจากยาเก่าที่ค้างอยู่ที่บ้าน เฉพาะยาแผนปัจจุบัน ไม่รวมยาสมุนไพร ยาที่ได้รับคืนจะนำมาคัดแยก เพื่อนำยาที่หมดอายุนำไปทำลาย ส่วนยาที่ยังใช้ได้ จะแนะนำประชาชนในการใช้ยา หากไม่ใช้จะเก็บกลับไปให้สถานบริการเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นที่จังหวัดเชียงราย โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในอ.เมืองเชียงราย ได้ทดลองซื้อไข่ 4,000 บาท แลกยาที่ประชาชนไม่ได้ใช้มูลค่ากว่า 50,000 บาท คาดว่ายาไม่ได้ใช้ที่ค้างตามบ้านน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนจำนวนไข่ที่ให้จะเป็นเท่าใดนั้นไม่ได้คำนวณจากจำนวนหรือราคายา แต่จะดูตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว อาจให้ไข่ 5 ฟองหรือมากกว่านั้นตามความเหมาะสม โดยในอนาคต อาจใช้วิธีแจกถุงยาให้ผู้ป่วยใส่ยาที่เหลือมาให้แพทย์ดูในการตรวจครั้งต่อไป ยาตัวใดที่ยังใช้ได้ก็จะให้ใช้ต่อไป จะเป็นการเริ่มต้นที่จะไม่ให้มียาเหลือไปเหน็บข้างฝาบ้านเหมือนอย่างเช่นปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น