วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันเด็กหญิง 2 ขวบเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก

อาการที่สังเกตได้ของโรคมือเท้าปาก
ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านไวรัสวิทยา การรักษาและระบาดวิทยา ประกอบด้วย
  • นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  • นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 
  • รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ 
  • พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ 
  • นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ 
  • นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค 
  • ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 
  • นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ 
เพื่อร่วมกันพิจารณาการวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้า ระวัง โรคมือเท้าปากของกรมควบคุมโรค 3 ราย
ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐกล่าวว่า ผลการประชุมในวันนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญ ได้พิจารณาการเสียชีวิตของผู้ป่วย 3 ราย โดยประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชน คือสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงเด็กหญิงอายุ 2 ปี 8 เดือนอยู่ในกทม. เสียชีวิตที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 โดยได้นำข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณา ได้แก่ การสอบสวนด้านระบาดวิทยา เช่นสถานที่ที่เด็กติดเชื้อ อาการของโรค รวมทั้งผลการชันสูตรยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ปรากฎว่า เด็กที่เสียชีวิตรายนี้มีโรคประจำตัวคือโรคหอบหืด โดยเข้ารับการรักษาที่รพ.นพรัตนราชธานีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ด้วยอาการไข้ หายใจลำบาก ไม่มีตุ่มหรือแผลปรากฎในปาก ที่มือ หรือเท้า ต่อมามีหอบ เหนื่อย แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ผลเลือดพบมีเม็ดเลือดขาวสูงเข้าได้กับการติดเชื้อต่างๆ ค่าเอนไซม์ต่างๆของหัวใจ มีระดับสูงกว่าปกติเข้าได้กับการที่หัวใจมีอาการอักเสบ
นาย แพทย์ประเสริฐ กล่าวต่อว่า เด็กที่เสียชีวิตรายนี้ไม่พบปัจจัยสัมผัสโรคที่ชัดเจนว่าไปสัมผัสโรคมาจาก ที่ใด และในพื้นที่ที่เด็กอาศัยก็ไม่พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเป็นกลุ่มก้อน แต่แพทย์สงสัยจึงเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ ซึ่งไม่พบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 ต่อมาได้เก็บตัวอย่างจากลำคอส่งตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์ที่กรมวิทยาศาสตร์การ แพทย์ พบเชื้ออีวี 71 ผลการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญพบว่า ถึงแม้ อาการของโรคต่างๆไม่เข้ากับโรคมือเท้า ปากโดยตรง แต่มีอาการบางอย่างที่เข้าได้ เช่นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อย่างไรก็ตาม เมื่อพบเชื้ออีวี 71 ทำให้เชื่อว่าเด็กหญิงคนนี้เป็นโรคมือเท้าปาก เป็นรายที่มีอาการรุนแรง โดยเมื่อวิเคราะห์ทางอณูวิทยาพบว่าเป็นสายพันธุ์บี 5 แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์บี 1 บี 5 หรือซี 4 ก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าชนิดของสายพันธุ์มีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่จะ ทำให้เสียชีวิตแต่ประการใด
นายแพทย์ประเสริฐกล่าวต่อว่า เด็กรายนี้มีโรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัวอยู่เดิม จากข้อมูลการรักษาพบว่า แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ ถูกต้องตามมาตรฐานทุกประการ และมีหลักฐานว่าในระหว่างทำการรักษาได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญระดับสูงอยู่ตลอดเวลา ในการมารักษาผู้ป่วยไม่ได้มาช้า แต่อาการแสดงของโรคไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคมือเท้าปาก แต่แพทย์มีความสงสัยจึงได้เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนการที่แพทย์ระบุสาเหตุการตายว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นการระบุตามผลการตรวจค่าเอ็นไซม์หัวใจที่ผิดปกติ เนื่องจากขณะที่เด็กเสียชีวิตแพทย์ยังไม่ได้รับผลการตรวจยืนยันเชื้อจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงไม่มีหลักฐานยืนยันว่าป่วยเป็นโรคอื่นใด โดยปกติการตรวจเชื้อขั้นยืนยันด้วยวิธีพีซีอาร์ จะใช้เวลาประมาณ 48-72 ชั่วโมง กรณีที่รู้ผลว่าเป็นอีวี 71 ช้า เนื่องจากส่งตรวจหลายตัวอย่างเป็นระยะๆ เริ่มจากอุจจาระซึ่งไม่พบเชื้อ ต่อมาแพทย์ยังสงสัยอยู่จึงส่งตัวอย่างจากลำคอที่ผลตรวจพบเชื้อภายหลัง จึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปิดบังแต่อย่างใด

“คำแนะนำสำหรับประชาชนขณะนี้คือ ถ้าเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี หากมีไข้สูงเกิน 48 ชั่วโมงแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เริ่มซึม เหนื่อย หรือหอบ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ ส่วนเด็กที่ไม่ป่วยควรสร้างสุขนิสัยเรื่องการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ให้เป็นนิสัยตลอดเวลา” นายแพทย์ประเสริฐกล่าว
นาย แพทย์ประเสริฐกล่าวต่อว่า โรคทุกโรคเมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้ มีปัจจัยเสี่ยงและเหตุที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่นมีโรคประจำตัว ไปโรงพยาบาลช้า อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อายุน้อย ดังนั้นจะเน้นเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ โรคมือเท้าปากพบในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ผู้ป่วยมีจำนวนมาก แต่มีผู้เสียชีวิตน้อยราย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตทุกราย เช่นประเทศไต้หวันในปี 2541 มีผู้ป่วย 1 แสนกว่าราย เสียชีวิต 500 ราย ประเทศจีนในปี 2551 พบผู้ป่วย 1.5 ล้านราย เสียชีวิต 500 ราย การที่จะเสียชีวิตหรือไม่นั้นมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากเชื้อเชื้ออีวี 71 ส่วนเชื้อคอกซากีเอ 16 และคอกซากีอื่นๆ ส่วนมากอาการไม่รุนแรง จะหายภายใน 5-7 วัน
สำหรับ ผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าไม่ใช่โรคมือเท้าปาก โดยรายแรกเป็นชายไทยอายุ 16 ปี อยู่อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อ 1 กรกฎาคม 2555 มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ไม่มีตุ่มและผื่นในปาก มือ หรือเท้า ป่วย ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก น้ำลายเป็นฟอง หมดสติ มาโรงพยาบาลและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ผลการสอบสวนโรคไม่พบปัจจัยสัมผัสโรค ผลตรวจตัวอย่างจากลำคอด้วยวิธีพีซีอาร์พบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 มติที่ประชุมสรุปว่าเป็นไข้สมองอักเสบน่าจะมีสาเหตุจากเชื้ออีวี 71 แต่ไม่เข้าเกณฑ์เป็นโรคมือเท้าปาก ซึ่งโรคไข้สมองอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิดไม่ เฉพาะจากอีวี 71 เท่านั้น ส่วนรายสุดท้ายเป็นเด็กหญิงอายุ 3 ปี อยู่อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เป็นโรคหัวใจตั้งแต่เด็ก รักษากับแพทย์มาตลอด มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเนื่องจากไข้สูง ตาลอย เหนื่อยหอบ ก่อนหน้ามาโรงพยาบาล 2-3 วัน มีไข้สูง อาเจียน ถ่ายเหลว โดยหลักฐานทางระบาดวิทยา อาการ และผลห้องปฏิบัติการ คณะผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากต่อเนื่องมาเป็นเวลา หลายปี รวมทั้งเฝ้าระวังเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยรุนแรง เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ด้วย โดยร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยปีละ 8,000-18,000 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง พบผู้เสียชีวิตปีละ 2-6ราย จากการติดตามสถานการณ์ทั่วโลกพบว่า มีรายงานการระบาดในหลายประเทศ เช่น ตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนมีรายงานผู้ป่วย 1,271,535 ราย เสียชีวิต 356 ราย ประเทศเวียดนามมีรายงานผู้ป่วย 63,780 ราย เสียชีวิต 34 ราย ประเทศสิงคโปร์มีรายงานผู้ป่วย 26,317 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต และกัมพูชา ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ชัดเจน แต่มีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิต 54 ราย

สำหรับไทยตั้งแต่ 1 มกราคม–22 กรกฎาคม 2555 มีรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปากทุกจังหวัด รวม 16,860 ราย ผู้ป่วยบางรายติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 โดยมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตและอยู่ในข่ายสงสัยติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตามมาตรฐานของระบบเฝ้าระวังโรคต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น