วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สธ.เผยพิษเหล้า เหตุชาวโลกตายเฉลี่ยนาทีละเกือบ 5 คน

วันนี้ (6 ก.พ.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายเดเร็กซ์ รูเทอร์ฟอร์ด (Mr. Derek Rutherford) ประธานกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก (GAPA) แถลงข่าวว่า ในวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2555 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “นโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก”(Global Alcohol Policy Conference) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในโลก ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก (GAPA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ทุกประเทศปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน
นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญการป้องกันและลดปัญหา ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า เหล้าเป็น 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวการร้ายที่ทำลายสุขภาพ คือ บุหรี่ อาหารขยะ และการไม่ออกกำลังกาย โดยได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศสมาชิกทั่วโลก พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละกว่า 2.5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 4.8 คน เฉพาะในกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีรายงานเสียชีวิตปีละ 320,000 คน ยังไม่รวมถึงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร การทำร้ายร่างกาย การป่วย ผลกระทบต่อครอบครัวและเด็กอีกจำนวนมาก ข้อมูลใน พ.ศ. 2548 ประชากรโลกอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 6.13 ลิตรต่อปี ล่าสุดที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกใน พ.ศ. 2553 มีมติรับรองยุทธศาสตร์โลกเพื่อจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกรอบให้ประเทศสมาชิก 192 ประเทศ เพื่อลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต ลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มชนิดนี้

ในส่วนของประเทศไทย มีนโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ มียุทธศาสตร์ควบคุมและลดความรุนแรงปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. การควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพ 2. การปรับเปลี่ยนค่านิยมและลดแรงสนับสนุนในการดื่ม 3. การลดอันตรายจากการบริโภค 4. การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ และ 5. การพัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนที่เข้มแข็ง ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และมีกฎหมายคือพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในโลก
       ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบว่า ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุรา 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรวัยนี้ที่มีทั้งหมด 53.9 ล้านคน ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 5 เท่าตัว ผู้ชายเริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 19.4 ปี ผู้หญิงอายุ 24.6 ปี และเมื่อเทียบกับพ.ศ. 2552 พบผู้ชายมีแนวโน้มอัตราการดื่มลดลงจากร้อยละ 54.5 เป็นร้อยละ 53.4 ส่วนผู้หญิงอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.8 เป็นร้อยละ 10.9

ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้ 
  1. มาตรการด้านสังคม โดยขอความร่วมมือจากผู้นำทางศาสนา 5 ศาสนาหลักของประเทศ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของศาสนา รวมถึงส่งเสริมให้ปฏิบัติตามคำสอนของทุกศาสนา และร่วมกับ สสส. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รณรงค์และประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความรู้ ความตระหนักในโทษ พิษ ภัย และผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. มาตรการด้านกฎหมาย มีร่างกฎหมายลูกเพิ่มอีก 8 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ เช่น ห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน สถานกีฬา, ห้ามขายรอบสถานศึกษา,ห้ามขายเหล้าปั่น, ห้ามดื่มบนยานพาหนะฯ หรือบริเวณหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, การควบคุมบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า, การขอรับการสนับสนุนเพื่อบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล

นอกจากนี้ยังมีระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสถานที่ราชการและสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแล การร่วมกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 45 สถาบัน จัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เพื่อควบคุมการจำหน่ายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย การพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธร 9 ภาค และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ ในการเฝ้าระวังและบังคับใช้ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2553 - 30 กันยายน 2554 ได้เฝ้าระวังฯตรวจเตือน ตรวจสอบร้านจำหน่ายเหล้า 1,279 ราย กล่าวโทษดำเนินคดี 241 ราย แบ่งเป็น ใน กทม.ตรวจเตือน 302 ราย กล่าวโทษดำเนินคดี 24 ราย ในส่วนภูมิภาคตรวจเตือน 977 ราย กล่าวโทษดำเนินคดี 217 ราย

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีการบรรยายวิชาการน่าสนใจหลายประเด็น เช่น ภาระโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก แอลกอฮอล์กับโรคไม่ติดต่อ สถานการณ์และแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดใหม่ ภาษีและราคา การควบคุมการตลาดและการเข้าถึง และแนวทางในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่นศาตราจารย์โรบิน รูม (Prof. Robin Room) จากประเทศออสเตรเลีย นายแพทย์เจอร์เกน เรห์ม (Dr. Jurgen Rehm) จากประเทศแคนาดา และจากภาคประชาสังคม ภาครัฐ ตัวแทนประเทศและตัวแทนชุมชน นอกจากนี้ยังมีการประชุมนอกรอบของหน่วยงานองค์กรต่างๆ การศึกษาดูงานชุมชนปลอดเหล้าที่ชุมชนสันติอโศก ดูชุมชนลดเลิกเหล้าของ กทม. ที่ชุมชนหลังไปรษณีย์สำเหร่ ดูตัวอย่างพ่อค้าแม่ค้าปฏิบัติตามกฎหมายเหล้าที่ตลาดน้ำคลองลัดยม ตลิ่งชัน กทม. ดูงานต้นแบบของพนักงานปลอดเหล้าที่บริษัท เอเชียพรีซิชั่น จำกัด และดูด้านการบำบัดรักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ นิทรรศการ ลานกิจกรรม และที่สำคัญจะมีการประกาศเจตนารมณ์กรุงเทพฯ แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น