นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า โรคปากแหว่ง (Cleft lip) เพดานโหว่ ( Cleftpalate) เป็นความพิการของใบหน้าที่พบมากที่สุดปีละประมาณ 1,000คนส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่มีฐานะยากจน จากการศึกษาในไทย พบเด็กปากแหว่ง ได้ 1ใน 600 ของเด็กแรกเกิด ส่วนเพดานโหว่ พบได้ 1ใน 2,500ของเด็กแรกเกิด พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุการเกิดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่นขาดสารอาหาร การสูบบุหรี่ เป็นต้น โดยมีโอกาสเกิดปัญหาซ้ำในครรภ์ถัดไปได้ร้อยละ 3-5เด็กที่ปากแหว่งเพดานโหว่ จะมีปัญหาหลายอย่าง ได้แก่ การดูดและกลืนนมและอาหารลำบาก จะมีปัญหาปอดติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากการสำลักอาหารเข้าทางเดินหายใจ การรักษาให้ได้ผลดี ต้องผ่าตัดเย็บปิดรอยแหว่งและช่องโหว่ตั้งแต่ยังเล็กเด็กปากแหว่งควรได้รับผ่าตัดเมื่ออายุ 3-6เดือนส่วนเด็กเพดานโหว่ควรผ่าตัดเมื่ออายุ 9เดือน - 1ขวบครึ่ง หากได้รับการผ่าตัดช้าจะทำให้การฝึกพูดให้ชัดเจนเหมือนคนปกติ เป็นไปได้ยาก ซึ่งในปี 2555 นี้ ได้จัดงบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 16 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัด การใส่เพดานเทียม การดูแลจัดฟัน การฟื้นฟูแก้ไขการพูด การได้ยิน จะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ แทบไม่เหลือความพิการให้เห็นเลยตั้งแต่ปี 2550 -2554 ได้ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยประเภทนี้แล้ว 6,901 ราย
อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยก่อนตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่มีประวัติครอบครัว มีพ่อหรือแม่ พี่ น้อง หรือญาติฝ่ายพ่อ ฝ่ายแม่ที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ และควรหลีกเลี่ยงการแต่งงานในเครือญาติ และมีผลการศึกษาวิจัยในหลายประเทศพบว่า กรดโฟลิคหรือโฟเลทซึ่งเป็นวิตามินชนิดหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ หากระดับโฟเลทต่ำจะเสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิด เช่น ภาวะหลอดประสาทพิการและปากแหว่งเพดานโหว่ ดังนั้นในการป้องกันเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ได้แนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์กินกรดโฟลิคเพิ่ม เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย1เดือน และช่วง 3เดือนแรกของการตั้งครรภ์และมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ เนื่องจากกรดโฟลิคจะมีมากในผัก-ผลไม้สด เช่น มะเขือเทศ ผักตระกูลกะหล่ำ แตงกวา แครอท ถั่วฝักยาวถั่วเหลือง ถั่วเขียว ส้ม องุ่น นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น