วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปรับโฉมโครงการ 30 บาท เน้น 4 เรื่องใหญ่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดแผนพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาโรคยุคใหม่ในปี 2555 เดินหน้า 4 เรื่องให้โดนใจประชาชน คือ มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีมีคุณภาพใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน และจัดการโรคเรื้อรัง โดยจะมีหมอดูแลสุขภาพทุกครอบครัวเต็ม 100 ภายใน 2 ปี ในปีนี้เริ่ม 12 ล้านครัวเรือนก่อน ผู้ป่วยนอกจะได้รับบริการภายใน 2.5 ชั่วโมง คนไข้โรคหัวใจรอคิวผ่าไม่เกิน 3 เดือน
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555  ที่หอประชุมสนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง“ระบบหลักประกันสุขภาพตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ” ในเวทีประชุมของเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 8 จังหวัดภาคกลางกว่า 400 คนนายวิทยากล่าวว่า ในปี 2555 นี้ รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาโครงการ 30บาทรักษาทุกโรคยุคใหม่ เพื่อให้โดนใจประชาชนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ไม่มีการล้มโครงการอย่างแน่นอน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ใน 2 มาตรา คือมาตรา 51 ว่าด้วยสิทธิการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมมีมาตรฐาน ผู้ยากไร้ได้รับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้รับการป้องกันโรค ขจัดโรคติดต่ออันตราย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและทันเหตุการณ์ และมาตรา 80 (2) ว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน นำไปสู่การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนของประชาชน
นายวิทยากล่าวต่อว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคโฉมใหม่ในปี 2555 นี้ จะเน้น 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 
  1. มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ
  2. มียาดีใช้เพียงพอ
  3. ไม่ต้องรอรักษานาน 
  4. จัดการโรคเรื้อรัง 
ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากได้จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามเป้าหมายการพัฒนาครั้งนี้ ประชาชนจะมีหมอประจำครอบครัวดูแลสุขภาพถึงบ้าน ครบทุกครัวเรือนทั่วประเทศที่มีประมาณ 20 ล้านครัวเรือนภายในปี 2557 ปีแรกนี้จะดำเนินการให้ได้ร้อยละ 60 หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องตรวจสุขภาพและกินยาต่อเนื่อง จะได้รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน ประชาชนจะได้รับยาดี คือยาที่รักษาแล้วหายจากโรค ทั้งยารักษาโรคทั่วไปและยาที่มีราคาสูงทุกสิทธิไม่แตกต่างกัน และเพิ่มทางเลือกในการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมากขึ้น โดยจะมีรณรงค์การใช้ยาของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีความเชื่อว่ายาดีคือยาราคาแพง ส่วยยาของบัตรทองคือยาราคาถูกไม่มีคุณภาพ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนของการใช้ยาของคนไทยมากกว่าร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ขณะนี้มีข้อมูลว่า คนไทยกินยาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านเม็ด
สำหรับการพัฒนาการให้บริการจะให้รวดเร็วขึ้น ผู้ป่วยนอกร้อยละ 80 จะได้รับบริการภายในเวลา 2 ชั่วโมง 50 นาที กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับบริการภายใต้นโยบาย 3 เร็ว 2 ดี มีระบบช่องทางพิเศษจัดบริการผู้สูงอายุ พระภิกษุ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นมะเร็ง โรคหัวใจ ต้อกระจก จะรอคิวรักษาไม่เกิน 3 เดือน โดยกระทรวงสาธารณสุข จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมโยงข้อมูลบริการระหว่างสถานพยาบาลเครือข่าย ส่วนการจัดการโรคเรื้อรังร้อยละ 80 ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการคัดกรอง ค้นหาเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น