วันนี้ (6 ก.พ.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมกระทรวงสาธารณสุข ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และแผนการพัฒนางานสาธารณสุข ว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่นี้ไป จะเน้นที่การป้องกัน การควบคุม การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องกินยารักษาโรค โดยจะเน้นเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้พบว่าประชาชนไทยป่วยจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงกันมาก โดยเฉพาะคนวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินอาหารที่มีรสหวาน หรือมันจัด หรือเค็มเกินไป
จากข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบประชาชนป่วยเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ปีละประมาณ 300,000 คน ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ ปีละ 800,000 คน ซึ่งเท่ากับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่มีปีละ 800,000 คนเช่นกัน หากไม่มีมาตรการควบคุมแก้ไข จะทำให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยคนป่วย 2 โรคนี้ในอนาคต และมีอายุสั้น ประเทศต้องสูญเสียเงินรักษาผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเมื่อป่วยแล้วจะรักษาไม่หายขาด ต้องกินยา หรือเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเป็นประจำนายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศที่มีกว่า 900 แห่ง เป็นปฐมฤกษ์ในการจัดเมนูอาหารสุขภาพเป็นต้นแบบ เพื่อลดโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรงพยาบาลต้องดูแลผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้อยู่แล้ว ต้องจัดอาหารให้ผู้ป่วยทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและมุสลิม ให้ขยายผลไปสู่โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังให้โรงพยาบาลทุกแห่งคุมเข้ม ตรวจสอบการปนเปื้อนสารอันตราย เพื่อความปลอดภัยของอาหารผู้ป่วยตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นความปลอดภัยอาหารบริโภคทุกชนิด ตั้งแต่อยู่ในภาคผลิตในฟาร์มจนถึงการแปรรูปขึ้นโต๊ะอาหาร ถือเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขในปีนี้ ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ติดตามกำกับในภาคปฏิบัติ ให้เกิดรูปธรรมอย่างชัดเจนภายในเดือนมีนาคม 2555 นี้
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จะมีร้านอาหารที่มาเปิดจำหน่ายอาหารแก่ผู้มารับบริการในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข จะกำหนดให้มีการจัดทำเมนูสุขภาพ ส่วนอาหารของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะพิจารณาในรายละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยทั่วไป และญาติหรือผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนที่เข้ามาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน จะสนับสนุนส่งเสริมการออกกำลังกาย โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในวงกว้าง เพื่อสร้างกระแสกระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในการลดโรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง จะบูรณาการงานแต่ละกรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และวางแผนร่วมกับ สปสช.ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตา ไต เท้า ให้สอดคล้องกันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น