วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เปิดภาคเรียนใหม่ สธ.ห่วงโรคมือเท้าปากระบาด

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กป่วยโรคมือเท้าปากช่วงหลังเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน    เผยในรอบ 5 เดือนปีนี้ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยกว่า 10,000 ราย ให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประสานผู้บริหารโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ดูแลความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องเล่นต่างๆ ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม ให้ครูตรวจความผิดปกติของเด็กเช่น มีไข้ มีตุ่มใสขึ้นที่มือ เท้า หรือปาก ทุกวัน หากพบให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข


นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ จะมีเด็กนักเรียนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ที่เป็นห่วงคือสถานการณ์ของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการมาอยู่รวมกันได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก(Hand foot and mouth disease) ซึ่งโรคนี้มักเกิดในเด็กเล็กทั่วไป กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งป้องกัน โดยให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประสานกับผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และศูนย์เด็กเล็กทั้งภาครัฐเอกชน เพื่อป้องกันการเกิดโรค ให้ดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ แยกของใช้เป็นรายบุคคล เช่นผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน หาอุปกรณ์ให้นักเรียนได้ล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนทานอาหารและหลังเข้าส้วมทุกวัน 
  2. ให้ครูตรวจสุขภาพเด็กนักเรียน โดยเฉพาะการตรวจตุ่มใสที่มือ เท้า ปาก และหากพบว่าเด็กมีไข้หรือพบตุ่มใสขึ้นที่มือ เท้า หรือในปาก ขอให้แยกออกจากเด็กปกติ แจ้งผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อควบคุมป้องกันโรค 
  3. การให้ความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากแก่ครู โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเป็นคู่มือคำแนะนำ เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากในโรงเรียน

 ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก เกิดจากเชื้อไวรัส ในปี 2556 นี้ ในแถบเอเชียมีรายงานผู้ป่วยที่ประเทศเวียดนาม จำนวนกว่า 800 ราย ในส่วนของประเทศไทย จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี พ.ศ.2556 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 2 มิถุนายน พบผู้ป่วย 11,678 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปีพบร้อยละ 31 รองลงมาคืออายุ 2 ปีร้อยละ 25 และ 3 ปีพบร้อยละ 17 พื้นที่ที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่จังหวัดระยอง 102 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือเชียงราย พะเยา นครสวรรค์ และน่าน ซึ่งแนวโน้มโรคอาจระบาดง่ายขึ้นจากการที่เด็กมาร่วมกันจำนวนมาก จึงต้องเน้นที่มาตรการความสะอาดเป็นหลัก เนื่องจากเชื้อโรคชนิดนี้จะอยู่ที่ลำไส้ และขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วย จึงขอแนะนำให้โรงเรียนทุกแห่งยึดหลักของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี คือกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคทางเดินอาหาร เช่นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด  
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ 1-2วันจากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน อาจมีหลายแผลส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล หากอาการรุนแรงจะลามมาที่ลิ้นกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยอาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ  และหายได้เองภายใน 7 วัน มีจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง คือมีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรงโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น การลดไข้ด้วยยาหรือเช็ดตัวบ่อยๆ ด้วยน้ำธรรมดานอนพักมากๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มหากมีอาการรุนแรงควรนำส่งโรงพยาบาลทันทีประชาชนสามารถสอบถามที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์กระทรวงสาธารณสุขโทรฟรีหมายเลข 1422
นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคนี้คือรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบอาหาร และเด็กๆทุกคน ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องส้วม หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก และก่อนเตรียมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารทุกชนิด หมั่นตรวจดูแผลในช่องปากของลูกหลานหากมีแผลหรือตุ่มให้รีบไปพบแพทย์ หากมีเด็กป่วยในโรงเรียน ให้แยกเด็กออกจากกลุ่มเด็กปกติและแยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลอดดูดและทำความสะอาดพื้นห้องหรือพื้นที่อื่นๆ ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆเช่นลูกบิดประตู ราวบันได ด้วยน้ำผสมผงซักฟอกแล้วตามด้วยน้ำผสมน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น