|
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจง รัฐบาลไม่มีนโยบายแปรรูปองค์การเภสัชกรรมและไม่มีนโยบายร่วมจ่าย เผยการปลดอดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พิจารณาจากประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนเรื่องร่วมจ่าย เรื่องการแทรกแซง สปสช. การแต่งตั้งรองเลขาธิการสปสช. และครอบงำสปสช.ด้วยการย้ายสำนักงานฯ เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเป็นเรื่องที่มาจากที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. พร้อมยืนยันการทำพีฟอร์พีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
วันนี้(5 มิถุนายน 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี กลุ่มอสม.นครบาลจาก 50 เขต กทม.จำนวน ประมาณ 1,000 คน มอบดอกไม้ให้กำลังใจนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าระบบจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วประเทศ
นายแพทย์ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวานนี้(4 มิถุนายน 2556) ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง ประเด็นการเรียกร้อง
- เรื่องแรกคือกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีข้อสงสัยว่ารัฐบาลจะทำเรื่องการร่วมจ่ายหรือไม่ ซึ่งได้พูดคุยชี้แจงรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องร่วมจ่าย เรื่องนี้มาจากที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเลขาธิการสปสช.เป็นผู้เสนอเอง เนื่องจากสภาพัฒน์ฯ ขอให้พิจารณาในเรื่องระบบการเงินการคลัง เช่น การร่วมจ่าย เพื่อความมั่นคงของระบบในระยะยาว โดยได้ขอความเห็นมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติ ให้ความเห็นกลับไปที่สภาพัฒน์ฯ และได้ทักท้วงไปแล้วว่าไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แต่ทางกลุ่มผู้ที่มาเรียกร้องก็ยังยืนยันว่าต้องการให้รัฐบาลให้หลักประกันว่าจะไม่ทำเรื่องนี้ โดยสิ่งที่อาจช่วยทำให้ได้ก็คือ นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในการประชุมที่ผ่านมา ได้มีมติมาแล้วว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลา และยังไม่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลที่จะทำ
- เรื่องที่ 2 ผู้เรียกร้องต้องการให้ล้มเลิกการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 30 บาท เพราะว่ามีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการหลายอย่าง ได้ชี้แจงแล้วว่าการนำระบบ 30 บาทกลับมานั้น เป็นนโยบายรัฐบาล และได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นคนอนุมัติไม่ใช่รัฐบาลอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตามยินดีรับฟังความเห็น และจะนำมาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ หากมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร ก็จะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
- เรื่องที่ 3 เรื่องการแทรกแซงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ยืนยันว่าการบริหารจัดการเป็นเรื่องของนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ยืนยันว่าการตั้งตำแหน่งรองเลขาธิการสปสช.นั้น นายแพทย์วินัย เป็นผู้ตั้งเรื่องขึ้นมาเอง การจะเลือกตำแหน่งของใครนั้นนายแพทย์วินัยเป็นคนเลือก เป็นสิทธิ์ของนายแพทย์วินัย และจะยึดหลักการวิธีไหนก็ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่จะเลือก ตนไม่ได้ไปแทรกแซง ส่วนเรื่องที่กระทรวงจะเข้าไปครอบงำ ยึดสปสช. โดยย้ายสำนักงานฯมาตั้งบริเวณกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเรื่องการย้ายสำนักงานสปสช.นั้น เลขาธิการ สปสช.เป็นผู้ขอไป และขอให้ฝ่ายรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้สร้างสำนักงานฯอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสำนักงานที่อยู่ในศูนย์ราชการฯ แออัด ตนได้ไปขอความร่วมมือก็ได้งบประมาณมา ก็น่าจะเป็นข้อดีที่จะได้ขยับขยายสำนักงานให้เพียงพอ ไม่ได้เป็นการครอบงำ โดยสปสช.น่าจะมีกิจกรรมติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าหน่วยราชการภายในศูนย์ราชการแห่งนั้น แต่หากสำนักงานฯเห็นว่าเป็นข้อเลวร้ายก็เสนอมา ซึ่งตนไม่ได้สั่งการ แต่เป็นฝ่ายให้การช่วยเหลือ ส่วนเรื่องงบประมาณ หากไม่ใช้ ก็ขอคืน เพราะฉะนั้นเรื่องการแทรกแซง ทั้งเรื่องการแต่งตั้ง การย้ายสำนักงานเป็นเรื่องเข้าใจผิด คาดคะเนกันไปเอง
- เรื่องที่ 4 คือเรื่องการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม ที่ทางผู้เรียกร้องเข้าใจว่า รัฐบาลจะเข้าไปแปรรูปทั้งหมด เช่น การปลดหรือเลิกจ้างนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นหนึ่งในกระบวนการในการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม เพื่อจะให้เป็นของเอกชนเข้ามาครอบงำนั้น ขอยืนยันชัดเจนว่าทางรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายแปรรูปองค์เภสัชกรรม เป็นการเข้าใจผิดหรือคาดคะเนผิดอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่อยากทำคือทำให้องค์การเภสัชกรรมมีความมั่นคง เพื่อจะเป็นหลักของกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยา ด้วยการซื้อยาจากองค์การเภสัชให้มากขึ้น แต่ต้องทำให้องค์การเภสัชกรรมมีความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพ มีความโปร่งใส ให้ชัดเจนก่อน ส่วนกรณีการเลิกจ้างนพ.วิทิตนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่ได้เลิกจ้างเพราะเรื่องทุจริต แต่พิจารณาจากประสิทธิภาพในการทำงาน หรือมีข้อกังขาต่างๆ เช่น การบริหารจัดการให้มียาค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก เกินความจำเป็นหรือไม่ เช่น ในกรณียาพาราเซตามอล ที่สื่อมวลชนสนใจว่ามีการปนเปื้อน ซึ่งได้มีการสอบถามไป แต่ไม่ได้รับรายงาน จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบภายใน และขอความร่วมมือจากดีเอสไอ ซึ่งผลจากดีเอสไอมองว่าเป็นความผิดเชิงการทำผิดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนกรณีทุจริตเป็นเรื่องของดีเอสไอพูด
- เรื่องที่ 5 คือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฎิบัติงานหรือ พีฟอร์พี (P4P)นั้น ทางกลุ่มผู้ปฏิบัติงานกลุ่มแพทย์ชนบท ได้ให้ข้อมูลว่าระบบนี้น่าจะเป็นผลเสียในทางปฏิบัติ ทำให้แพทย์เสียเวลาเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งไม่เป็นธรรมในเรื่องวิธีปฏิบัติต่างๆ เช่น ต้องมีการให้เงินบางกลุ่มเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มพยาบาล ซึ่งได้ชี้แจงว่าระบบพีฟอร์พีนั้น กระทรวงสาธารณสุข ตั้งใจจะให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานและบริการประชาชน เช่น ได้คิวผ่าตัดเร็วขึ้น หรือคุณภาพการรักษา กระบวนการต่าง ๆ หัวใจหลักของการพีฟอร์พีก็คือต้องมีตัวชี้วัด และต้องมีการวัดผล ประเมินผลและปรับปรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนรูปแบบวิธีการเป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำ ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีเจตนาลดค่าตอบแทนบุคลากร แต่ประสงค์ที่จะเพิ่มค่าตอบแทนให้ทุกวิชาชีพ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพด้วย นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น