วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไทยมีอุบัติเหตุจราจรเจ็บ-ตายรวมปีละกว่า 80,000 ราย

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่าวันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงเหยื่อจากอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนน( world Day of Remembrance for Road Traffic Victims) ซึ่งเป็นภัยที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และบาดเจ็บกลายเป็นคนพิการ    ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระเลี้ยงดูแก่ญาติหรือผู้ดูแลที่ต้องดูแลตลอดชีวิต     จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่าปีละ 50 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 1.3 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 3,500 คน และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของกลุ่มอายุ 15-29 ปี จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหา เพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า   สถานการณ์อุบัติเหตุจาจรในประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานล่าสุดในปี 2554 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 พบว่ามีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลในสังกัดที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 80,962 ราย เฉลี่ยบาดเจ็บชั่วโมงละ 9 ราย เสียชีวิต 4,535 ราย เฉลี่ยวันละ 12 ราย ส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตจะเป็นผู้ขับขี่คิดเป็นร้อยละ 73 รองลงมาคือผู้โดยสารคิดเป็นร้อยละ 21 เป็นคนเดินเท้าร้อยละ5 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า   เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มของผู้บาดเจ็บทั้งหมด พบว่า ร้อยละ 82 เกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์ รวมจำนวน 62,507 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 3,037 ราย อัตราการตายหลังบาดเจ็บร้อยละ 5   เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แต่จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 2   ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้รถจักรยานยนต์ กว่า 2 ใน 3 เป็นเพศชายและเป็นผู้ขับขี่    ส่วนกลุ่มผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 59 และเสียชีวิตร้อยละ 52
กลุ่มอายุที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 15-19 ปีคิดเป็นร้อยละ 20 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20-24 ปีคิดเป็นร้อยละ 13 และอายุ 25-29 ปีคิดเป็นร้อยละ 11   ส่วนกลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 20-24 ปีคิดเป็นร้อยละ 18 และมีผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บอายุต่ำกว่า 11 ปีด้วย    ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่มคิดเป็นร้อยละ 17
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า   สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุดคือการไม่สวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อค ซึ่งในปี 2554 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงที่สวมหมวกนิรภัยทั้งหมด 8,092 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ผู้เสียชีวิตที่สวมหมวกนิรภัยมี 171 รายคิดเป็นร้อยละ 6    แม้ว่าสัดส่วนการสวมหมวกนิรภัยของประชาชนทั่วประเทศ ใน 2554สูงขึ้นกว่าปี 2553 ร้อยละ 1.4 ก็ตาม โดยที่โรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บเกือบทุกแห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่สวมหมวกฯเข้ารับการรักษาฯเพิ่มขึ้น และประการสำคัญ          
มีผู้บาดเจ็บ 1 ใน 3 ดื่มสุราร่วมด้วยจำนวน 18,789 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 10 ปี และอายุสูงสุดคือ 20 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 15 เท่าตัว   และเสียชีวิต 513 รายคิดเป็นร้อยละ 20    และช่วงเวลาที่พบผู้บาดเจ็บจากการขับขี่ฯและดื่มแอลกอฮอล์ด้วยมากที่สุดคือช่วง 2 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม ทั้งนี้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุดคือศีรษะ โดยผู้บาดเจ็บรุนแรงที่สวมหมวกกันน็อคมีการบาดเจ็บที่ศีรษะร้อยละ 30 ส่วนผู้ที่ไม่สวมมีการบาดเจ็บที่ศีรษะมากถึงร้อยละ 50   รองลงมาคือบริเวณเข่า ขา เท้า และข้อเท้า   ในกลุ่มผู้เสียชีวิตที่สวมหมวกฯจะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะร้อยละ 48 ส่วนผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมจะบาดเจ็บที่ศีรษะร้อยละ 60   อวัยวะทีมักจะได้รับบาดเจ็บรองลงมาคือ ช่วงทรวงอกและช่องท้อง   ดังนั้นหากมีการบังคับใช้กฎหมายให้ประชาชนสวมใส่หมวกกันนิรภัยกันมากขึ้น ให้สวมใส่ทุกครั้งที่ขับขี่หรือนั่งโดยสารให้ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล   ก็จะเป็นการช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่จะเกิดกับศีรษะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรขึ้นได้
“ประการสำคัญจะต้องล็อคสายรัดคางด้วยทุกครั้ง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหมวกจะห้อหุ้มและรองรับศีรษะ ลดความรุนแรงจากการกระแทกกับพื้นได้ สิ่งที่พบเห็นอยู่เสมอพบว่าประชาชนใส่หมวกกันน็อค มักจะไม่ล็อคสายรัดคางเพราะเห็นว่าขับขี่ไม่ไกล บางรายใส่เพื่อป้องกันตำรวจจับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่คุ้มกับการเสี่ยงที่จะสูญเสีย โดยเฉพาะสมองซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิตทุกอย่าง”นายแพทย์ณรงค์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น