วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ดีเดย์การบริหารยาระบบใหม่ 1 มกราคม 2556 นี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ และการเบิกจ่าย ย้ำรัฐบาลไม่มีนโยบายห้ามใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ให้ใช้ตามข้อบ่งชี้ตามมาตรฐานการแพทย์ พร้อมยกเลิกการห้ามข้าราชการเบิกจ่ายกลูโคซามีนซัลเฟต ให้เบิกได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างสมเหตุสมผล และให้ยกเลิกลงทะเบียน 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรังของระบบราชการ โดยกรณีที่ไม่ใช้บริการในโรงพยาบาลเดิม ใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรงไม่ได้ และพัฒนาระบบมาตรฐานข้อมูลรหัสยา ระบบตรวจสอบการใช้ของผู้ป่วยในระบบออนไลน์ได้ ป้องกันการตระเวนรับยาไปใช้ไนทางไม่ถูกต้อง
วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ  ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงานฯ กระทรวงกลาโหม สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาระบบยาของประเทศ ของคณะอนุกรรมการ 6 ชุด ประกอบด้วย
  1. ชุดต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ 
  2. ชุดส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาชื่อสามัญ 
  3. ชุดกำหนดแนวทางรักษา ข้อบ่งชี้การใช้ยา การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาล 
  4. ชุดพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาลและการเบิกจ่าย 
  5. ชุดพัฒนาบัญชียาและรหัสมาตรฐาน เพื่อบริหารเวชภัณฑ์ 
  6. ชุดปรับปรุงกลไกการจ่ายยาของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ เพื่อให้มีการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ประดิษฐให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่คณะอนุกรรมการทั้ง 6 ชุดดำเนินการใน 6 เดือนที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามาก จะเริ่มใช้มาตรการเหล่านี้ในเดือนมกราคม 2556 นี้ ยืนยันในหลักการว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ให้ใช้ตามความจำเป็นอย่างสมเหตุผล รัฐบาลจะทำให้ยาเหล่านี้ราคาถูกลง มีราคาอ้างอิง และมีกติกาการใช้ เป็นไปตามข้อบ่งชี้ตามหลักวิชาการมาตรฐานทางแพทย์ในแต่ละสาขา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด และมีกลไกการบริหารจัดการหลายด้านไปพร้อมๆกัน
สำหรับยากลูโคซามีนซัลเฟต ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายในกลุ่มสวัสดิการข้าราชการ จะยกเลิกระเบียบใหม่ที่ห้ามเบิก และให้ใช้ตามระเบียบเดิม แต่ให้อย่างสมเหตุสมผล ตามข้อบ่งชี้ราชวิทยาลัยโอโธปิดิกส์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยจะหาราคาอ้างอิงยาชื่อสามัญในการเบิกจ่าย ซึ่งจะใช้ในโรงพยาบาลทุกสังกัด ต่อไปจะขยายเพิ่มในรายการยากลุ่มอื่นๆ และอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาแพง เช่น ลิ้นหัวใจ ข้อเทียม ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ห้ามการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ รวมทั้งรัฐบาลจะดูแลค่ารักษาโรคที่มีราคาแพง เช่นมะเร็ง ต้องเป็นไปตามเหตุผลข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าจะใช้วิธีใด  
ส่วนเรื่องการที่กรมบัญชีกลางให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเลือกสถานบริการ 1 แห่งในการรักษา 1 โรค จะยกเลิกให้ใช้ตามปกติ เนื่องจากระบบดังกล่าวจะทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ส่วนข้อกังวลเรื่องที่บางคนอาจตระเวนไปรักษาและรับยาหลายโรงพยาบาลซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย อาจจะใช้มาตรการระยะสั้นคือให้สำรองจ่ายเอง ไม่ให้ใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรงในกรณีที่ไม่ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดิม มาตรการนี้จะไม่กระทบคนส่วนใหญ่ จึงไม่ต้องกังวล ระยะกลางและระยะยาวจะพัฒนาระบบฐานข้อมูลรหัสยามาตรฐาน สามารถใช้ตรวจสอบข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วยในระบบออนไลน์ได้  ป้องกันการตระเวนรับยาไปใช้ไนทางที่ไม่ถูกต้อง                                                              
รวมทั้งให้ใช้ยาตามข้อบ่งชี้และมาตรฐานการรักษาทางวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นองค์กรทางวิชาชีพ เช่นราชวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีอธิบดีกรมการการแพทย์เป็นเลขาคณะอนุกรรมการ จะทำให้มีข้อบ่งชี้ทางการรักษาอย่างเที่ยงตรงและเป็นกลาง ไม่ได้มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะช่วยแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในเบิกจ่ายของกลุ่มข้าราชการได้ หากในกรณีที่ไม่ได้เป็นยาก็จะนำออกจากบัญชียาก็จะเกิดความชัดเจน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการควบคุมราคายา จะใช้กลไกราคากลาง ทำกระบวนการซื้อยาให้ถูกลง โดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางในการจัดซื้อ ยาบางรายการที่มีราคาแพงและใช้กับกลุ่มราชการ จะมี 2 มาตรการควบคุม คือ การปรับกฎระเบียบ โดยให้เบิกจ่ายคืนเป็นยาแทนการเบิกเป็นเงินจากกรมบัญชีกลาง หรือให้ซื้อยาผ่านองค์การเภสัชกรรม แก้ปัญหายาบางรายการที่กองทุนสวัสดิการข้าราชการซื้อได้ในราคาสูงกว่ากองทุนอื่น

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบริหารเวชภัณฑ์ของกระทรวงฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากโรงพยาบาลทุกระดับ กรมวิชาการที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภพในการบริหารจัดการและกำกับติดตามเรื่องต่างๆ 8 เรื่อง ได้แก่
  1. ทบทวนรายการยาตามระดับของสถานบริการทั้งยาในบัญชียาหลักและนอกบัญชียาหลัก 
  2. การลดค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งยาที่ราคากลางและยังไม่มีราคากลาง 
  3. กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกรายการยาที่จะจัดซื้อร่วมกันในระดับประเทศ ระดับเขต และระดับจังหวัด เพื่อให้ยาราคาถูกลง  
  4. เผยแพร่ข้อมูลราคายาและเวชภัณฑ์ที่หน่วยงานต่างๆจัดซื้อได้ผ่านเวปไซต์กระทรวงฯ 
  5. ควบคุมคุณภาพยา 
  6. การควบคุมกำกับและประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 
  7. จัดทำระบบการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนยาระหว่างสถานบริการเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 
  8. ให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้สต็อคและจัดส่งกลุ่มยาสำคัญๆให้แก่สถานบริการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น