วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

6 แนวทางบริหารจัดการโครงการ 30 บาทยุคใหม่

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวทางการบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ จัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า การเริ่มโครงการ 30 บาทที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นปีละแสนล้านบาท อาจถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มาก ค่าใช้จ่ายสุขภาพมีสัดส่วนประมาณ 12-13 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 3.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่อย่างไรก็ตามในการควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ลดคุณภาพการดูแลสุขภาพประชาชน แต่จะบริหารเรื่องการลงทุนให้คุ้มค่า 
จากการประเมินการใช้บริการของประชาชนที่อยู่ในโครงการ 30 บาท ที่มีจำนวน 48.5 ล้านคน พบว่ามีผู้เข้าใช้บริการปีละ 32.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้บริการเดือนละ 1 ครั้ง ประมาณ 31 ล้านคน และใช้บริการมากกว่า 1 ครั้ง มีประมาณ 1 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง จึงต้องมีการ ปรับแนวคิดและปรับขบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยในปี 2556 -2558 รัฐบาลจัดสรรงบรายหัวโครงการ 30 บาทในอัตราคงที่ 2,755.60 บาท ต่อหัวต่อปี ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการให้เต็มที่แล้ว หากเหลือจ่ายก็สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นๆได้ หากไม่พอ รัฐก็จะสามารถจัดสรรส่วนที่ขาดได้อย่างถูกต้อง โดยมี 6 แนวทางดังนี้
  1. การอภิบาลระบบงาน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน กำหนดบทบาทแยกกันชัดเจน ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และผู้กำหนดหลักเกณฑ์ มีการซื้อบริการระดับเขต 
  2. การบริหารกำลังคน ให้มีการจ้างงานที่ดีขึ้น ไม่ให้ไหลออกไปสู่ภาคเอกชน มีความสุขในการทำงาน และจัดระบบบริการที่ประหยัดกำลังคน เช่น การรวมศูนย์คลังยา การนำระบบดิจิตอลมาใช้ในห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ลดการใช้คนที่ไม่จำเป็น
  3. การสร้างประสิทธิภาพ จะนำการบริการแบบธุรกิจมาใช้ เช่น การบริหารคลังยา เพื่อให้โรงพยาบาลมีสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้องค์การเภสัชกรรมช่วยในการสต็อกยาให้โรงพยาบาลใช้อย่างเพียงพอ โรงพยาบาลไม่ต้องลงทุนเอาเงินไปซื้อยามากเกินไป มีการใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกันให้ถึงจุดคุ้มทุน เช่น ใช้ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนได้ และมีแนวความคิดที่จะนำเอกชนมาร่วม ตั้งแต่งานบริการพื้นฐานธรรมดาจนถึงการลงทุนต่างๆ เช่น ใช้คลินิกเอกชนแทนการลงทุนสถานพยาบาลปฐมภูมิ นำเอกชนเข้ามาร่วมในหน่วยล้างไต ประชาชนจ่ายค่าบริการที่ถูกลง พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ได้ค่าแรงมากขึ้น
  4. การสร้างเพิ่มรายรับ เช่น จัดระบบบริการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มที่ยังขาดระบบดูแล เช่น จัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับสิทธิเป็นไปตามกฎหมาย อยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันควบคุมโรค และแก้ไขปัญหาประชากรจากต่างด้าวด้วย
  5. การบริหารการลงทุน เพื่อให้เกิดศูนย์รักษาเชี่ยวชาญ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในภูมิภาคนี้ และบริการดุจเครือญาติระดับโลก ลงทุนระบบเอ็กซเรย์ดิจิตอล ซึ่งลดค่าใช้จ่ายการซื้อฟิล์มรังสีเดือนละหลายแสนบาท โดยจะทดลองนำใช้ในบางพื้นที่ในปีหน้า เพื่อเป็นต้นแบบ การลงทุนแต่ละเรื่องจะมีผลผลิตปรากฎออกมาอย่างชัดเจน และ
  6. การประเมินผล โดยพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพของระบบการดูแลด้านสุขภาพของประเทศเป็นระบบเดียวกันทั้ง 3 กองทุน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทฺธิผลและคุณภาพของงาน โดยทุกภาคส่วนต้องมีตัวชี้วัดเป้าหมายงานทุกกิจกรรมร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งตัวชี้วัดทั่วไป และเฉพาะเรื่อง 
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการร่วมอภิปรายประเด็น ค่าเหมาจ่ายรายหัว 2,755 บาทคงที่ 3 ปี ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนการจัดบริการประชาชนเป็นพวงบริการ มีทั้งหมด 12 เครือข่ายให้เหมาะสม ต่อการบริการที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบบริหารด้านการเงินการคลังและกำลังคน แต่ละพวงบริการจะครอบคลุมประมาณ 5-6 จังหวัด โดยจะให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน และมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลในพื้นที่ตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าที่สุด ใช้ระบบการจัดสรรเงินรวมระดับเขตและการจัดซื้อยารวม เพื่อประหยัดงบประมาณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น