วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

ด่วน!!หลักการปรับค่าตอบแทนแนวใหม่

นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์
นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ชุดใหม่ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือผู้แทน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป หัวหน้าโครงการบริหารค่าตอบแทน สำนักงานก.พ. มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำคัญของแนวทางการทบทวนค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข โดยวงเงินค่าตอบแทนไม่ลดลงแต่อย่างใด แต่จะมีการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ โดยจ่ายตามผลการปฏิบัติงานจริงหรือตามภาระงาน (Pay for Performance : P4P) และยังคงให้มีค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายในบางพื้นที่ที่อยู่ยาก และพื้นที่เฉพาะระดับ 1 ระดับ 2 เช่นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือโรงพยาบาลที่หาบุคลากรไปทำงานยากเช่นเดิม เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งและบุคลากรทุกคนที่ทำงานเกินมาตรฐานของงานจะได้รับค่าตอบแทนส่วนนี้ โดยจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ระยะที่ 2 เดือนตุลาคม 2556 และระยะที่ 3 ในเดือนตุลาคม 2557 
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า เมื่อปรับการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงานแล้ว ค่าตอบแทนที่ได้รับจะไม่ลดลง บางคนได้มากกว่าวิธีเดิม เนื่องจากมีการรับประกันวงเงินในการจ่ายค่าตอบแทน  ในระยะแรกจะประกันเท่ากับวงเงินเดิมที่กลุ่มวิชาชีพเคยได้รับ ส่วนในระยะที่ 2 จะประกันวงเงินตามภาระโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความมุ่งมั่นว่า เมื่อปรับระบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือคุณภาพและประสิทธิภาพของงานบริการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนัก  โดยจะมีการกำหนดเพดานวงเงินค่าตอบแทนให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านการเงินในระยะยาว และใช้วิธีการบริหารจัดการภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแนวทางการบริหารงบประมาณค่าตอบแทนในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งครม.อนุมัติงบช่วยอุดหนุน 3,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายค่าตอบแทนตามแบบเดิมย้อนหลังในเดือนตุลาคม 2555-มีนาคม 2556 ซึ่งโรงพยาบาลได้ใช้เงินบำรุงสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 2,000 ล้านบาท  ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาทจะใช้ตามหลักเกณฑ์ใหม่เริ่มตั้งแต่เมษายน–กันยายน 2556 โดยจะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเร่งทำความเข้าใจบุคลากรทุกระดับ  เนื่องจากเป็นระบบใหม่ หลายฝ่ายยังเข้าใจหลักการคลาดเคลื่อน    
“เรื่องเงินค่าตอบแทนนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อชดเชยการเสียโอกาสให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบท กันดาร เป็นการแสดงน้ำใจความห่วงใยต่อบุคลากรที่คงอยู่ปฏิบัติงานดูแลประชาชนในพื้นที่ ด้วยอุดมการณ์ความเสียสละที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคเอกชน” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว          
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วิธีการจ่ายตามผลการปฏิบัติงานจริง เป็นวิธีการใหม่ที่จะเกิดขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขทุกวิชีพทุกคน ที่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน และเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการแก่ประชาชน โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานการทำงานขั้นต่ำของทุกสายวิชาชีพ ซึ่งแบ่งเป็น 7 กลุ่ม  คือกลุ่มแพทย์  กลุ่มทันตแพทย์  กลุ่มเภสัชกร  กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ กลุ่มสหวิชาชีพ  กลุ่มตำแหน่งเจ้าพนักงานระดับเทคนิค  กลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นและงานสนับสนุน เพื่อเป็นฐานในการจ่าย ขณะนี้ได้จัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียดเสร็จแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามระดับพื้นที่ที่จะใช้ในปี 2556-2557  จะแบ่งโรงพยาบาล ออกเป็น 2 กลุ่มคือโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมี 96 แห่ง และกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน 737 แห่ง ซึ่งจะมีการทบทวนการจัดพื้นที่ใหม่ เมื่อดำเนินการระยะที่ 3 คือในเดือนตุลาคม 2557 และจะปรับทุก 2 ปี โดยในหลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
  1. โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ปกติ 
  2. โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 1 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความยากลำบากในการบริหารจัดการบุคลากร จำนวน 7 แห่ง 
  3. โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความยากลำบากในการบริหารจัดการบุคลากรระดับมาก มี 2 แห่ง
ส่วนโรงพยาบาลชุมชน จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม
  • กลุ่มที่1.คือโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในเขตชุมชนเมือง  มี 33 แห่ง 
  • กลุ่มที่2.โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปกติมี 591 แห่ง  
  • กลุ่มที่3.โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 1 จำนวน 65 แห่ง 
  • กลุ่มที่4. โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 48 แห่ง 
ซึ่งโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะ ได้กำหนดการจ่ายตามระยะเวลาที่อยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1-3 ปี 4-10 ปี และ 11 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เสียสละ เช่นโอกาสเล่าเรียนของบุตร เป็นต้น และเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้บริการประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจะพิจารณาให้วิชาชีพต่างๆ 26 สายงาน เนื่องจากการทำงานเป็นทีมบริการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร 2.กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ 3.สหวิชาชีพ และ4.กลุ่มสายบริการโดยตรง ทั้งระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น