วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สธ.เร่ง ดูแลความปลอดภัยอาหาร ป้องกันการเจ็บป่วย

นายวิทยา บุรณศิริ
นายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อเร่งรัดและติดตามการดำเนินงานยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชน ที่แต่ละกรมได้มอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเด็ก 0 5 ปี ที่รัฐบาลและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้เร่งดำเนินการในการสร้างพัฒนาการเด็กในกลุ่มนี้ให้เหมาะสมตามวัยที่ควรได้รับ เพราะขณะนี้ทั่วโลกเน้นเรื่องของการดูแลเด็กและสตรี ได้มอบให้กรมอนามัย กรมสุขภาพจิตดูแลเน้นที่ศูนย์เด็กเล็กของชุมชนที่อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น และการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดบริการ 70 ปีไม่มีคิวในโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ รวมทั้งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจสูงอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มแม่และเด็ก   เด็กปฐมวัยและวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้พิการ

             นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งเริ่มต้นโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ รักษาฟรี ทุกที่ทุกคน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและได้รับความพึงพอใจ พบปัญหาบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับระบบการส่งต่อของโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขบางแห่งในเขตกทม. ที่ต้องปรับปรุงต่อไป เช่น การสำรองเตียงรับย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนเมื่อผู้ป่วยอาการทุเลา  และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเกณฑ์ของคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน และให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด 
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้ดูแลเรื่องอาหารปลอดภัย เพื่อลดการป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบที่เกิดจากเชื้อโรคและสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหาร และโรคเรื้อรัง ในเรื่องอาหารปลอดภัยได้ให้ทุกจังหวัดตรวจสอบและรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต สถานที่ผลิต สถานที่บริการอาหาร และแหล่งกระจายอาหารต้องผ่านเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เน้นใน 7 แหล่งอาหาร ได้แก่ โรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร ตลาดค้าส่ง ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารและแผงลอย โรงครัวในโรงพยาบาล โรงอาหารในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนและสถานศึกษา และสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย เน้น 7 ประเภท คือ น้ำมันทอดซ้ำ และน้ำมันที่ไม่มีฉลากอย. สารปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิด ได้แก่ บอแร็กซ์ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารฟอกขาว ยาฆ่าแมลง และสารเร่งเนื้อแดง น้ำดื่ม น้ำแข็ง นมโรงเรียน เส้นก๋วยเตี๋ยว และอาหารอื่นๆที่เป็นปัญหาของจังหวัด
ในส่วนของโรงพยาบาลให้จัดเมนูชูสุขภาพและอาหารเฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วย และในปี 2555 จะพัฒนาอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล 5 จังหวัดชายแดนใต้ และ3 จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.พระนครศรีอยุธยา และรพ.นครพิงค์เชียงใหม่ ให้บริการอาหารฮาลาลที่ปลอดภัยตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม
          นอกจากนี้ ได้ให้อย.ดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ต้องมีการบันทึกสูตรปริมาณของส่วนผสมในอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน ให้ประสานกับภาคอุตสาหกรรม และโอทอป เพื่อสร้างมาตรฐานของอาหารให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี นายวิทยากล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น