วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในไทยเฉลี่ยเพิ่มชั่วโมงละ 2 ราย


นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 3 ของการตายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักเป็นอย่างเฉียบพลัน จากการประมาณการพบว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดจำนวน 177 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 21,700 ราย เฉลี่ยเพิ่มชั่วโมงละ 2 ราย ในปี 2553 มีผู้ป่วยโรคนี้นอนพักรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 253,016 ราย และมีผู้เสียชีวิต 13,037 รายเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งดำเนินการป้องกันและพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลเพื่อลดการเสียชีวิต ทั้งนี้ ก่อนที่จะเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 มักจะมีปัญหาความอ้วนมาก่อนหรือมีไขมันในเลือดสูง

                  การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ได้ผลดีมี 2 วิธี คือ รักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะช็อก จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจทันที จะสามารถลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 50 โดยนโยบายแก้ไขเรื่องนี้จะเน้นหนัก 2 ประการคือการป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย โดยลดอาหาร หวาน มัน เค็ม เพิ่มกินผัก-ผลไม้ และออกกำลังกาย และพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของกระทรวงฯ และตั้งอยู่ในภูมิภาคให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วย 4 สาขา คืออุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทารกแรกเกิด และโรคมะเร็ง มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เครื่องเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงที่ทันสมัยเพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย
                   ขณะนี้มีโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาคที่สามารถผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดได้ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ยะลา สุราษฎร์ธานี ลำปาง พิษณุโลก ชลบุรี จันทบุรี แต่ละแห่งดูแลประชากรประมาณ 4-6 ล้านคน และล่าสุดคือโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี สามารถผ่าตัดหัวใจและตรวจสวนหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยและรักษา ดูแลประชากรประมาณ 7 ล้านกว่าคน ใน 7 จังหวัดได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร เลย บึงกาฬ และนครพนม นับเป็นแห่งที่ 3 ของโรงพยาบาลในสังกัดฯในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                   นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบบริการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอันตรายโรค โดยพัฒนา 2 หน่วยบริการ คือ

  1. โรงพยาบาลจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นศูนย์โรคหัวใจ เพื่อเป็นเครือข่ายบริการกับศูนย์เชี่ยวชาญร่วมกันดูแลผู้ป่วย ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 46 แห่ง ซึ่งจะมีระบบการให้คำปรึกษา เปิดช่องทางด่วนส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจไปรับการรักษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญในแต่ละภาคได้ทันที 
  2. เปิดโครงการคลินิกยาวาร์ฟาริน (Warfarin Clinic) ที่โรงพยาบาลชุมชนอีก 50 แห่ง เป็นหน่วยดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยรักษาด้วยยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดป้องกันลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง ทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาต และจะเร่งขยายการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น