วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ครบ 5 ปีของการให้สิทธิผู้ป่วยไตวาย


 พล.ท.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้องรังด้วยวิธีทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) ในโอกาสใกล้ครบ 5 ปีของการให้สิทธิผู้ป่วยไตวายของรัฐบาลว่า ได้เคยทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง การทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง กับการฟอกเลือด ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) พบว่า ข้อดีของ CAPD มีมากกว่าการฟอกเลือด เพราะทำให้ผู้ป่วย CAPD สามารถควบคุมน้ำและขจัดของเสียในร่างกายได้ดีกว่า โดยผู้ป่วยทั้งสองวิธีมีอัตราการรอดชีวิตไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตตามพยาธิสภาพของโรคเหมือนผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ และความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดลือดแดงซึ่งเป็นยาราคาแพงและผู้ป่วยโรคไตต้องใช้ประจำ ผู้ป่วย CAPD ใช้ยาน้อยกว่า ผลลัพธ์ถ้าได้รับการปลูกถ่ายไตจะดีกว่า

     
       พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวต่อว่า แต่มีข้อต้องระวัง คือ การติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งจากประสบการณ์การให้บริการ CAPD ในระบบ สปสช. มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าที่เกิดในประเทศยุโรปและดีกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ส่วนอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ มากนัก ในด้านผู้ป่วยและครอบครัว มีการเข้าถึงบริการของ CAPD ได้ดีและง่ายกว่าการฟอกเลือด ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง และลดค่าเสียโอกาสจากการทำงานของผู้ป่วยและญาติ เนื่องจากผู้ป่วยคนไทยส่วนใหญ่อยู่ชนบท ซึ่งหากฟอกเลือดต้องมาโรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่ CAPD สามารถทำได้เองที่บ้าน ด้านการจัดการของรัฐ มีความเป็นไปได้ในการขยายบริการทั่วประเทศรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต เนื่องจากใช้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลเฉพาะทางโรคไตน้อยกว่าประมาณ 10 เท่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการบำรุงดูแลระบบบริการ ในภาพรวมน้อยกว่าการฟอกเลือดมาก เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยและประเทศ และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
     
       พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวว่า ขณะเดียวกันจากรายงานผลการศึกษาของผศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ อาจารย์แพทย์โรคไต ซึ่งศึกษาผู้ป่วยทดแทนไตผ่านทางช่องท้องทั้งหมดจำนวน 8,194 ราย จากหน่วยบริการ สปสช.จำนวน 102 แห่งทั่งประเทศ ลงตีพิมพ์ในจดหมายเหตุทางการแพทย์ของไทย ฉบับเดือนตุลาคม 2554 เผยแพร่ในเวทีประชุมวิชาการระหว่างประเทศที่ไทยเป็นเจ้าภาพ พบว่า ผู้ป่วยไทยมีอัตราการติดเชื้อในช่องท้องทั้งประเภทรุนแรงต้องนอนรักษาที่ รพ.และไม่รุนแรงให้ยากินและกลับบ้านได้ เฉลี่ยติดเชื้อ 25.6 เดือนต่อครั้งต่อคน อัตราการติดเชื้อในช่องท้องนี้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาของ พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน ในปี 2552 ที่เผยแพร่ในเวทีวิชาการทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ พบติดเชื้อในช่องท้องเฉลี่ย 20.7 เดือนต่อครั้งต่อคน และดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอยู่ที่ 18 เดือนต่อครั้งต่อคน หรือดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในยุโรปซึ่งมีรายงานว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 24 เดือนต่อครั้งต่อคน
       “จากผลการศึกษาและตีพิมพ์เผยแพร่ในหมู่นักวิชาการโรคไตทั้งในและนอกประเทศ ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ระบบบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้องของ สปสช.ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าและดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาในยุโรปหลายประเทศ และ สปสช.เดินมาถูกทางแล้ว เท่าที่ทราบในอนาคตทาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับ สปสช.ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราการติดเชื้อในช่องท้องให้เหลือเพียง 40 เดือนต่อครั้งต่อคน ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปีครึ่งติดเชื้อไม่เกิน 1 ครั้งต่อคน” พล.ท.นพ.ถนอมกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น