วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

สธ.เตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 55


นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวง นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรองรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2555 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2555 ซึ่งปีนี้ ตั้งเป้าจะให้สงกรานต์มีความปลอดภัย ตายเป็นศูนย์ ให้ได้มากที่สุด


นายวิทยากล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจความคาดหวังของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นปีแรก โดยสำรวจประชาชนในกทม.และปริมณฑลทุกอาชีพ รวม 696 คน ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2555 พบว่า มีผู้วางแผนเดินทางไปฉลองสงกรานต์ต่างจังหวัดร้อยละ 61       ส่วนใหญ่ร้อยละ 64 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รองลงมาคือรถทัวร์/รถประจำทาง และรถตู้โดยสารประจำทาง โดยเกือบร้อยละ 90 มีความกังวลกลัวเกิดอุบัติเหตุขณะเดินทาง และร้อยละ 89 คิดว่าการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐนำมาใช้มากที่สุดคือ งดขายสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ร้อยละ 24 รองลงมาคือให้ตำรวจตรวจจับเพิ่มมากขึ้นและปรับอัตราสูงสุดร้อยละ19 ให้จับร้านค้าที่ขายสุราให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 18 ห้ามนั่งท้ายรถกระบะเล่นสาดน้ำ ร้อยละ 12 และให้ทางราชการหรือจังหวัดจัดโซนนิ่งเล่นสงกรานต์ ร้อยละ 9
นอกจากนี้ ยังพบว่าส่วนใหญ่รู้จักหรือเคยได้ยินหมายเลขแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 ในกลุ่มนี้มีส่วนน้อยที่เรียกใช้บริการ เพียงร้อยละ 3 เพราะส่วนใหญ่เมื่อพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ/เจ็บป่วยฉุกเฉินจะโทรแจ้งตำรวจ 191 ร้อยละ 63 รองลงมา จะเรียก 1669 ร้อยละ 31 โดยประชาชนร้อยละ 36 มีความเชื่อมั่นการเตรียมความพร้อมรองรับอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ของรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขในระดับมากถึงมากที่สุด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข จะนำไปพัฒนาระบบบริการให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางมากขึ้น 
    นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทุกระดับที่มีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศดำเนินการ 3 มาตรการ คือ

  1. ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัด
  2. ด้านการรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และความพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู พร้อมรักษาผู้บาดเจ็บตลอด 24 ชั่วโมง ตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ รักษาทันที ทุกที่ทุกคน” เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดความพิการและเสียชีวิต 
  3. ให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นมาตรการควบคุมการจำหน่ายเหล้า เบียร์ ในสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากพบกระทำผิดให้ลงโทษตามกฎหมายทันที  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น