วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

พัฒนามัสยิดเป็นศูนย์บำบัดผู้เสพยาเสพติด ใกล้บ้าน ใกล้ใจ

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.อดิศักดิ์ อัสมิมานะ พล.อ.ต.สุรินทร์ อยู่เป็นแก้ว ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ พันเอกพิเศษประเสริฐ บัวเขียว นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม.ในจังหวัดยะลา จำนวน 944 คน ให้เป็นอสม.เชี่ยวชาญด้านยาเสพติด เพื่อทำหน้าที่ให้การเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน และติดตามดูแลช่วยเหลือผู้เสพยาที่ผ่านการบำบัดแล้ว ไม่ให้หวนกลับไปเสพยาซ้ำอีก จากนั้นเดินทางไปที่โรงแรมปาร์ควิว ยะลา เปิดสัมมนาผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ พัฒนาชุมชน ฝ่ายการศึกษาและสาธารณสุขจำนวน 600 คน จาก 56 อำเภอ ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล เพื่อเตรียมความพร้อมทีมบำบัดฟื้นฟูประจำมัสยิด 56 แห่ง ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟื้นฟู หลังจากนั้นเดินทางไปเปิดการบำบัดฟื้นฟูที่มัสยิดศูนย์ส่องทางสู่ชีวิตใหม่ ที่มัสยิดบาโงลตา ต.บาโงย อ.รามัน ซึ่งมีผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดฯ 40 คน ระยะเวลาในการบำบัดฯ 9 วัน
นายวิทยากล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดของไทยขณะนี้ คาดว่าทั่วประเทศมีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 1.2ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งบำบัดฟื้นฟูไม่ให้กลับไปเสพยาซ้ำ เพื่อลดจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดให้เป็นผลสำเร็จ ให้บรรลุ“วาระแห่งชาติ” ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลโดยเร็วที่สุด โดยในการบำบัดรักษาผู้เสพ/ติดยาเสพติดในปีนี้ ได้เน้นเชิงรุก “1อำเภอ 1 ศูนย์ฟื้นฟู” จำนวน 928 แห่ง ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้เสพ/ติดยาเสพติด ได้รับการบำบัดฟื้นฟูในศูนย์ใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 1,028 แห่ง มีทีมบำบัดประจำอำเภอ 8,514 คน จากเป้าหมายที่กำหนด 9,280 คน และอบรมอสม.เป็นอสม.เชี่ยวชาญยาเสพติด 5,000 คน จะเร่งให้ครบตามเป้าหมายภายใน 2 เดือนนี้
          สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดยาเสพติดมีสูงมาก เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาและระดับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์สูงของประเทศอันดับ 3 รองจากกทม.และปริมณฑล เยาวชนที่เสพหรือติดยาเสพติด มักไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานบำบัดของภาครัฐ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำโครงการพัฒนามัสยิด 56 แห่ง ใน 56 อำเภอ ของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในชุมชน หรือมัสยิดศูนย์ส่องทางสู่ชีวิตใหม่ : ปูซัดเกอฮีดูปันบารู เป็นทางเลือกในการสร้างแรงจูงใจให้ชาวไทยมุสลิมที่เสพยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ มากยิ่งขึ้น เพราะมีรูปแบบการบำบัดฟื้นฟูที่สอดคล้องกับหลักศาสนาและวิถีชุมชนของชาวไทยมุสลิม จุดแข็งของมัสยิด คือเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน ซึ่งจะเป็นศูนย์ฟื้นฟูใกล้บ้านใกล้ใจ ครอบครัวและชุมชนจะมีส่วนร่วมสูง

ด้านน.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาที่น่าห่วงในกลุ่มที่เสพติดรุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า พบว่ามีผลในการทำลายสมองและมีภาวะแทรกซ้อนทางจิตเวชมากขึ้นในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2551- 2553 พบทั้งหมด 5,152 ราย ดังนั้นจึงต้องเร่งป้องกันโรคสมองติดยาดังกล่าว โดยการบำบัดให้เลิกเสพยาอย่างเด็ดขาด โดยตั้งแต่ตุลาคม 2554-กุมภาพันธ์ 2555 มีผู้เสพยาผ่านการบำบัดแล้ว 120,000 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัด ไมให้หวนกลับไปเสพซ้ำให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น