วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สธ.ให้พยาบาลจัดบริการประชาชน 8 กลุ่ม เน้น เข้าถึง พึ่งได้


นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี สำนักพยาบาล เรื่องคุณค่าพยาบาล:คุณภาพบริการพยาบาลเพื่อสุขภาพประชาไทย จัดโดย สำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิดร.วรรณวิไล มีผู้บริหาร นักวิชาการและพยาบาลทั่วประเทศ เข้าร่วม 1,200 คน เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ๆเกี่ยวกับงานให้บริการพยาบาล จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2555 ในงานมีการประกาศปฏิญญาการพยาบาล และนิทรรศการนวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลของพยาบาลทั่วประเทศ


          นายวิทยากล่าวว่า พยาบาลนับเป็นกำลังหลักในระบบบริการสุขภาพของประเทศ เนื่องจากมีจำนวนมากถึงร้อยละ 66 ของบุคลากรด้านสุขภาพที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งหมด 86,591 คนจากพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศที่มี 120,012 คน ขณะนี้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาล อยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุพยาบาลและบุคลากรสาขาอื่นๆ ประมาณ 30,000 ตำแหน่งให้เป็นข้าราชการ เพื่อให้มีบุคลากรดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกัน เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยทำงาน วัยชราและผู้พิการ ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมให้มีสุขภาพดี ป้องกันโรค รักษา และฟื้นฟูผู้เจ็บป่วย ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพบริการระบบหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้า มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดบริการพยาบาล เพื่อให้ประชาชน 8 กลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงและพึ่งได้ ได้แก่

  1. การดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ให้คลอดอย่างปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก ซึ่งขณะนี้ปัญหาหลักของหญิงตั้งครรภ์ไทยคือโรคโลหิตจาง ในปี 2554 พบหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาโลหิตจาง 85,768 คน จากหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดกว่า 2 แสนคน หากแม่มีปัญหาโลหิตจางจะเป็นอันตรายทั้งแม่ เสี่ยงตกเลือด แท้งลูก ส่วนเด็กจะเสี่ยงตายในครรภ์ พิการแต่กำเนิดได้ 
  2. การดูแลทารกแรกเกิดให้ปลอดภัย โดยเฉพาะรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะขาดออกซิเจนแรกคลอด 
  3. การดูแลเด็กวัยเรียนให้เติบโต มีพัฒนาการสมวัย มีความรู้และทักษะชีวิตที่สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ
  4. การดูแลกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนให้ปลอดภัยจากภาวะเสี่ยง เช่น การใช้สารเสพติด ขับรถเร็ว การมีเพศสัมพันธ์ การทะเลาะ/ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น 
  5. การให้ความรู้เข้าใจพฤติกรรมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นหญิง เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งในปี 2553 ไทยพบแม่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปีมากถึงร้อยละ15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าไม่ควรมีเกินร้อยละ 10 ความไม่พร้อมของร่างกายและจิตใจของแม่ ส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือ 2,500 กรัม 
  6. การดูแลกลุ่มวัยทำงานเชิงรุกป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มีประมาณ 39 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 68 ของประชากรทั้งหมด เช่นการตรวจสุขภาพประจำปี 
  7. การดูแลวัยสูงอายุและผู้พิการ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด และไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ 
  8. การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรี รวมทั้งดูแลครอบครัวให้มีความพร้อมเผชิญกับความสูญเสีย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น