ในขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยได้ขอความเห็นไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 เมื่อผ่านความเห็นของกฤษฎีกาและออกประกาศแล้ว จะได้ดำเนินการมาตรการควบคุมต่อไป โดยการสั่งซื้อต่อไปนี้ ทางสถานพยาบาลจะต้องมีการลงบันทึกของผู้สั่งซื้อ และบันทึกการจ่าย ซึ่งจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้ป่วยเป็นหลักฐานด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหล นำไปสู่การนำยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนไปผลิตยาบ้าหรือยาเสพติดประเภทอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับประชาชน โดยจะเร่งรัดการออกประกาศ คาดว่าไม่เกิน 7 วันนี้ โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
นายวิทยากล่าวต่อว่า ในระหว่างนี้ จะให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจสอบสต๊อกยาดังกล่าวของโรงพยาบาล ส่วนการใช้ยาก็สามารถใช้ยาสูตรเดี่ยว ซึ่งมีอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้วแทนไปก่อน และห้ามสั่งจ่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนอย่างเด็ดขาด ซึ่งยาชนิดนี้ขณะนี้มีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่มีเตียงรับผู้ป่วยค้างคืนสามารถซื้อได้ไม่เกิน 5,000 เม็ดต่อเดือนและไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาแล้ว
“การออกคำสั่งระงับการสั่งซื้อและการสั่งจ่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนของกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อให้มาตรการในการคุมเข้มการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดได้ผล และไม่ให้เกิดการรั่วไหล เพราะพบว่ากรณีที่มีการรั่วไหลออกไป ไม่มีคำสั่งจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล กระทำกันเองโดยเจ้าหน้าที่บางส่วน สำหรับความเป็นห่วงว่าจะมีการลักลอบนำยาสูตรดังกล่าวเข้ามาจากต่างประเทศแทนนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีด่านอาหารและยาตามจุดผ่านเข้าออกแนวชายแดน รวม 42 ด่านคอยตรวจสอบอยู่แล้ว” นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ความคืบหน้ากรณีที่พบการกระทำผิดที่โรงพยาบาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ ขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควร กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการลงโทษด้านวินัย หากพบมีเจตนากระทำความผิด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาจจะถึงขั้นให้ออกจากราชการ ส่วนเรื่องคดีอาญาเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้รับรายงานว่ามีหลายจังหวัดในขณะนี้
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดจำนวนมากประมาณ 1 ล้านคน มีการสั่งจ่ายยาสูตรซูโดอีเฟดรีนประมาณกว่า 4 ล้านเม็ด ซึ่งสมเหตุผลกับจำนวนผู้ป่วย เพราะแพทย์จะจ่ายยาครั้งละประมาณ 10-20 เม็ดต่อราย
ด้านนายแพทย์พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบันอย. ได้อนุญาตให้มีการใช้ยาสูตรเฟนนิลอีเฟดรีน ทดแทนยาสูตรซูโดอีเฟดรีน ที่ผ่านการอนุญาตของอย.แล้วประมาณ 90 กว่าตำรับ มีผู้ผลิต 46 ราย ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น