วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

สาธารณสุขพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ เริ่มปีนี้ 1,228 แห่ง


สาธารณสุขเดินหน้านโยบายลดแออัด เร่งพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิคือรพ.สต.และศสม.ทั่วประเทศ เป็นศูนย์สุขภาพใกล้บ้าน ใกล้ใจประชาชน มีหมอประจำทุกครอบครัว ครบถ้วนภายในปี 2556 เริ่มในปีนี้ 1,228 แห่ง โดยจัดแพทย์ที่ปรึกษารพ.สต. 1,000 แห่ง 1,000 คน มีระบบตรวจรักษาโรคทั่วไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เยี่ยมดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยประเภทที่ติดเตียงอยู่บ้าน และระดมอสม.เร่งสร้างสุขภาพ ลดป่วย



วันนี้ (26 มีนาคม 2555) ที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงแนวทางขับเคลื่อนนโยบายระบบบริการปฐมภูมิ ของกระทรวงสาธารณสุขแก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ ผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือศสม. ใน 14 จังหวัดภาคใต้รวมกว่า 700 คน และมอบนโยบายการพัฒนารพ.สต.และศสม.

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งพัฒนาระบบบริการของหน่วยบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิ 2 หน่วย คือรพ.สต.ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระดับตำบล มี 9,750 แห่ง และศสม. ซึ่งให้บริการในชุมชนเขตเมืองจำนวน 228 แห่ง รวมทั้งหมด 9,978 แห่ง ให้เป็นหน่วยบริการคุณภาพ อยู่ใกล้บ้านใกล้ใจ ประชาชนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เน้นหนัก 3 กิจกรรม ได้แก่

  1. บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ดูแลหญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับโรงพยาบาล
  2. ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาต่อเนื่อง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านคนทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ประเภทนอนพักฟื้นหรือนอนติดเตียงที่บ้าน เช่นอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ที่คาดว่าจะมีในชุมชนประมาณ 2 ล้านคน 
  3. การลดจำนวนผู้เจ็บป่วย โดยระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ที่มีประมาณ 1 ล้านคน เร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สร้างสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่คือโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ที่มีคิวตรวจรักษาขณะนี้เฉลี่ยแห่งละ 1,500-2,000 รายต่อวันได้ ซึ่งร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งเมื่อระบบบริการที่หน่วยดังกล่าว มีความเข้มแข็ง เป็นที่เชื่อมั่นประชาชน มั่นใจว่า คิวบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลใหญ่จะสั้นลง ใช้เวลาตรวจรักษา รับยากลับบ้านรายละไม่เกิน 2 ชั่วโมง 50 นาที ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นโรคหัวใจ ต้อกระจก จะรอคิวรักษาไม่เกิน 3 เดือน 


นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ภายใน 6 เดือนของปี 2555 นี้ จะพัฒนาสถานบริการดังกล่าว 1,228 แห่ง เป็นสถานบริการปฐมภูมิคุณภาพตัวอย่าง ประกอบด้วยรพ.สต.ขนาดใหญ่ที่ดูแลประชาชนมากกว่า 8,000 คนจำนวน 1,000 แห่ง และศสม. 228 แห่ง โดยจัดแพทย์ และมีแพทย์ที่ปรึกษารพ.สต. 1,000 แห่ง 1,000 คน พยาบาลเวชปฏิบัติ ทันตาภิบาล เครื่องมือจำเป็น ยารักษาโรคคุณภาพดี และใช้เทคโนโลยีสื่อสารเชื่อมโยงการให้คำปรึกษากับโรงพยาบาล เป็นช่องทางใหม่ให้ประชาชนได้พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรึกษาปัญหาการป่วย โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล สะดวกกว่าเดิม และจะขยายครอบคลุมรพ.สต.ที่เหลืออีก 8,750 แห่งภายในปี 2556 ซึ่งจากนี้ประชาชนไทยทุกครอบครัว จะมีหมอประจำครอบครัว ดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ตั้งเป้าใน 2555 มุ่งหวังจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ให้ได้ร้อยละ 50 ของที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มั่นใจว่าภายใน 2556 จะสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มอัตราการใช้บริการของประชาชนให้ได้ร้อยละ 60 และดูแลเยี่ยมบ้านประชาชนได้ร้อยละ 80 ส่วนผู้ป่วยทั้งโรคทั่วไปหรือโรคเรื้อรังที่ป่วยรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อน จะมีระบบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น