นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ |
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อสรุปผลการศึกษาการดำเนินงานของเขตบริการสุขภาพ ตามนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556-2560 หลังจากพัฒนามาได้ 1 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการ การดำเนินงานตามรูปแบบที่เหมาะสม และขับเคลื่อนจัดบริการดูแลประชาชนทั่วประเทศต่อไป
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า จากการศึกษาประสบการณ์การจัดบริการประชาชนตามรูปแบบเขตบริการสุขภาพของประเทศต่างๆ พบว่าหลายแห่งมีการดำเนินการมาแล้วกว่า 50 ปี เช่นที่อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และในเอเชียดำเนินการที่เกาหลีใต้และอินเดีย เชื่อมโยงบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงระดับเชี่ยวชาญ ตามสภาพปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่และขยายบริการลงสู่ชุมชน พบว่าได้ผลดี ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดีขึ้น ไม่มีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เช่นที่กรณีของอินเดีย พบว่ามีการใช้ทรัพยากร เทคโนโลยีที่มีอยู่ร่วมกัน เช่นเครื่องเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ ใช้การรักษาทางไกลเชื่อมโยงบริการระหว่างโรงพยาบาลแม่ข่ายกับลูกข่าย สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ไม่ลดประสิทธิภาพคุณภาพบริการรักษาพยาบาล ค่ารักษาบางโรคต่ำกว่าประเทศสหรัฐเอมริกาถึงร้อยละ 95 จึงมั่นใจว่าเขตบริการสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว 1 ปี จำนวน 12 เขต แต่ละเขตดูแลกลุ่มจังหวัดประชากรประมาณ 5 ล้านคน เป็นทิศทางที่จะเอื้อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดบริการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยตั้งแต่เล็กๆน้อยๆ จนถึงขั้นรุนแรงได้เบ็ดเสร็จภายในแต่ละเขตบริการสุขภาพ และเชื่อมโยงการป้องกันโรคลงสู่ชุมชน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยทั้งนี้ จากการระดมความคิดเห็นจากประชุมระดับอธิบดี และผู้บริหารทุกคนเห็นด้วยกับหลักการ เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับบริการมีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียมกัน แผนในช่วงแรกนี้กำหนด 5 ปี ระหว่างพ.ศ. 2556-2560 ขณะนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งเริ่มเห็นผลดีในบางพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดบริการร่วมแบบไร้รอยต่อ สามารถลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ทั้งบุคลากร เทคโนโลยีชั้นสูงได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยได้รับบริการเร็วขึ้น ลดการเสียชีวิตเช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวาย เป็นต้น แต่บางพื้นที่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง ดังนั้นมติที่ประชุมจะดำเนินการใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการ (Provider) กลุ่มควบคุมคุณภาพมาตรฐาน (Regulator) และเชื่อมโยงกับกลุ่มการเงินการคลัง (Purchaser) ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มที่รับผิดชอบ
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในการจัดทำแผนการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้สอดรับกับเขตบริการสุขภาพ จะใช้รูปแบบของการกระจายอำนาจให้เขตบริการสุขภาพเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 สามารถบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ ทั้งเรื่องทรัพยากรบุคคล การเงินการคลัง และอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ ในภาคบริการทั้งหมดที่อยู่ในสถานพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมวิชาการ จัดบริการแบบไร้รอยต่อทุกระดับตั้งแต่ขั้นปฐมภูมิจนถึงเชี่ยวชาญทั้งภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดภายในเขตบริเดียวกัน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ทุกเขตจัดทำแผนการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี คือพ.ศ. 2560 หลังจากนั้นก็จะดำเนินการอย่างสมบูรณ์แบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น