นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต |
จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) ได้แถลงผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา หลังได้รับรายงานจากองค์การสาธารณสุขแห่งประเทศอังกฤษ พบผู้ป่วยชาย 1 ราย เป็นชาวกาตาร์อายุ 49 ปี ป่วยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ด้วยอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน และไตวาย โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันเป็นเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อตระกูลเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส โดยเชื้อที่พบในผู้ป่วยรายนี้ เหมือนกับเชื้อที่ตรวจพบในผู้ป่วยชาวซาอุดิอาระเบียวัย 60 ปี ที่เสียชีวิตมาก่อนหน้านี้
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ และด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ด่านควบคุมโรคตามแนวชายแดน ให้เฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันเช่นโรคโรคปอดบวม และประสานแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อรับทราบ และให้สำนักระบาดวิทยา สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ติดตามประสานความคืบหน้าข้อมูลของเชื้อชนิดนี้ กับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิดทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) เป็นตระกูลใหญ่ของไวรัส ซึ่งรวมทั้งเชื้อไข้หวัดทั่วไป (Common cold)และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (SARS: Severe Acute Respiratory Syndrome) ซึ่งพบการระบาดใน พ.ศ. 2546 ในประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย แต่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และไม่มีการระบาดในประเทศ การตรวจพบเชื้อครั้งนี้ ถือว่าเป็นความรวดเร็วของระบบการเฝ้าระวัง จากการประสานงานองค์การอนามัยโลกเบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่มีการห้ามการเดินทางระหว่างประเทศแต่อย่างใด ยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่ขอให้ปฏิบัติตัวดูแลสุขอนามัยตนเอง โดยหมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด ไม่คลุกคลีกับคนป่วยเป็นไข้หวัด หากมีอาการไอจาม เป็นหวัดให้ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดคนอื่น ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หากมีอาการป่วยเหมือนไข้หวัด และหลังนอนพัก 2 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดลง ขอให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์ด้วย
ทั้งนี้จากการติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้ง 2 รายนั้น ทั้งญาติที่ใกล้ชิดและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย ยังไม่มีใครติดเชื้อจากผู้ป่วย จึงไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนก อย่างไรก็ดีในวันนี้กรมควบคุมโรคจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์ความร่วมมือควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกัน ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคที่สนามบิน โดยจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นายแพทย์พรเทพกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น