วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

สธ.ยืนยันยังไม่พบโรคฮันตาไวรัสในไทย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีข่าวโรคฮันตาไวรัส ติดต่อไปยังนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักแรมในอุทยานแห่งชาติของประเทศสหรัฐ อเมริกา ซึ่งโรคนี้มีสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะนำโรคสำคัญ เช่น หนูป่า และขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯได้ออกคำเตือนไปยังนักท่องเที่ยวที่อาจติดเชื้อ ไวรัสนี้ รวมถึงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคฮันตาไวรัสแล้วนั้น ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคฮันตาไวรัสในประเทศไทยน้อยมาก ไม่อยู่ในขั้นระบาด และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่เคยมีรายงานผู้ป่วยในปี 2528 ที่จังหวัดกาญจนบุรี และกรุงเทพฯ พบอีกครั้งในปี 2541 อีก 1 ราย ในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม สำหรับโรคฮันตาไวรัส พบว่า ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน แต่เป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน และโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ในการรักษาผู้ป่วยจะไม่มียาเฉพาะ โดยจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ เท่านั้น

ซึ่ง โรคฮันตาไวรัส พบได้บ่อยในสัตว์ฟันแทะที่อาศัยในป่า โดยเฉพาะในหนูป่าหลายชนิด สามารถติดต่อมาสู่คน โดยการหายใจเอาฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำลายของสัตว์ฟันแทะที่มีเชื้อ และจากการถูกสัตว์ฟันแทะกัด หรือรับเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มีแผล ทางจมูกและตา นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อได้จากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสสามารถอยู่ในสิ่งแวด ล้อมได้เป็นเวลานานและปนเปื้อนไปกับสิ่งของต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัสฮันตาที่พบในอเมริกาไม่ติดต่อจากคนสู่คน อาการที่พบมีตั้งแต่แบบไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง อาการรุนแรงจะเกิดที่ปอดหรือไต ซึ่งต้องรีบให้การรักษาเนื่องจากสามารถทำให้เสียชีวิตได้ อาการจะเกิดขึ้นประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ โดยในระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด (มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ) อาจมีอาการมึนงง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียตามมา สำหรับกลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ เรียกว่า Hantavirus pulmonary syndrome (HPS) เชื้อจะทำอันตรายต่อปอด ทำให้หายใจลำบากและไอ หากเกิดการติดเชื้อที่ไตจะทำให้เกิดอาการโรคไข้เลือดออกที่มีอาการทางไต เรียกว่า hemorrhagic fever with renal syndrome (HFRS) โดยอาจพบอาการปัสสาวะผิดปกติและเยื่อเมือกมีสีแดง และในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้เกิดเลือดออกที่ไต หรือไตวาย อาจเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคฮันตาไวรัส เป็นไปอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยการบูรณาการร่วมมือกันทำงานด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษาและควบคุมโรค และทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ระหว่าง คน สัตว์ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคตด้วย
“แม้ว่าโรคฮันตาไวรัส พบได้บ่อยในสัตว์ฟันแทะที่อาศัยในป่า โดยเฉพาะในหนูป่าหลายชนิด แต่ในหนูที่อาศัยตามบ้าน ตามท่อน้ำ และไร่นา ประชาชนก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษด้วย เพราะหนูเหล่านี้สามารถนำโรคฉี่หนูได้ ในการป้องกันโรคประชาชนสามารถทำได้ คือ การดูแลบ้านเรือนให้สะอาด ปิดช่องว่างในบ้านหรือโรงรถไม่ให้เป็นทางให้หนูเข้ามาได้ อาจใช้กับดักหรือเหยื่อกำจัดหนูในบริเวณบ้าน ไม่ใช้วิธีการไล่หนู ซึ่งนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังจะทำให้หนูแพร่พันธุ์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรเก็บอาหาร อาหารสัตว์ อาหารนกในภาชนะปิด ปิดถังขยะให้มิดชิด และควรตัดแต่งต้นไม้รอบบ้านเพื่อไม่ให้กลายเป็นที่อยู่ของหนู
นอกจากนี้ หากประชาชนมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเอว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเมื่อพบผู้ป่วยในพื้นที่จะต้องรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อทำการสอบสวนและควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดออกไป ถ้าประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น