วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สธ.เตรียมปรับโฉมงาน “หมออนามัยทั่วไทย”

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ สมานฉันท์ ประชาชนมีสุขภาพดี ป่วยแล้วได้รับริการเร็ว โดยปรับกระบวนงานของหมออนามัย ให้เป็นหน่วยรบทัพหน้า ลุยงานสร้างนำซ่อม ลดปัญหาเจ็บป่วย ออกเยี่ยมดูแลประชาชนรู้วิถีชีวิตเสมือนเป็นญาติสนิท เป็นบุคลากรนั่งอยู่ในหัวใจประชาชนอันดับ 1 และปรับบทบาทของสาธารณสุขอำเภอ ให้เป็นผู้ควบคุมการบังคับใช้กฎหมายสุขภาพที่มีประมาณ 40 ฉบับให้จริงจัง และเป็นนักเฝ้าระวังภัยสุขภาพในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขจัดการ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการดียิ่งขึ้นว่า ในปี 2557-2560 ของกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับระบบริการหลัก 2 ด้าน เพื่อสร้างความสุขเพิ่มความพึงพอใจแก่ประชาชนทุกคน
  • ด้านแรกคือการพัฒนาการสาธารณสุขในระดับอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งจะดูแลในระดับตำบล ลงไปถึงหมู่บ้านชุมชน หัวใจสำคัญก็คือเป็นเครือข่ายของการปฏิบัติงานเพื่อสร้างนำซ่อม ลดการเจ็บป่วยของประชาชน ในภาพรวมสาเหตุการป่วยขณะนี้ ร้อยละ 65 เป็นโรคจากพฤติกรรม แนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อันดับ 1 คือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากอันดับ 1 ปีละกว่า 60,000 คน และยังมีปัญหาในด้านสังคมจิตวิทยาเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรปีละกว่า 1 แสนคน ยาเสพติด อุบัติเหตุจราจร เป็นต้น จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งงานด้านนี้ระดับอำเภอและบูรณาการความร่วมมือจาก องค์กรอื่นๆ นอกสังกัดที่เกี่ยวข้อง และนวัตกรรมเทคโนโลยีจากกรมวิชาการต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข
นาย แพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาในระดับอำเภอดังกล่าว จะมีการปรับการทำงานของสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการในระดับทัพหน้าของกระทรวงสาธารณสุข โดยฟื้นฟูวัฒนธรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่แบบเดิม ภารกิจหลักคือการออกเยี่ยมดูแลประชาชนทุกคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงสูงอายุถึงที่บ้าน สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับชาวบ้านแบบญาติสนิท รู้ปัญหาและดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่อย่างดี เป็นการดูแลคนทั้งกาย จิตวิญญาณ อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ในอดีตนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นบุคลากรที่นั่งอยู่ในหัวใจของ ประชาชนสูงเป็นอันดับ 1 ส่วนงานบริการรักษาพยาบาล เป็นภารกิจรอง และจะเพิ่มบริการตรวจรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องพบแพทย์ประจำ เริ่มจาก 2 โรค คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ในอำเภอ

นอกจากนี้ จะเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุขซึ่งขณะมีประมาณ 40 ฉบับ เช่น กฎหมายด้านขยะ เหตุรำคาญ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลกับสุขภาพ ความปลอดภัยประชาชน กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหาร ให้จริงจังทุกจังหวัด รวมทั้งงานที่ขาดหน่วยงานดูแล เช่น การควบคุมเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ โดยเฉพาะคลอรีนตกค้างในน้ำประปาทุกประเภท โดยปรับบทบาทของสาธารณสุขอำเภอ ให้เป็นผู้ควบคุมกำกับการใช้กฎหมาย และเป็นผู้ตรวจสอบเฝ้าระวังสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เป็นเสมือนนักระวังภัยในพื้นที่ ชี้ประเด็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดการแก้ไขให้ถูกหลักทางวิชาการ โดยจะประชุมเครือข่ายหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ในเร็วๆนี้ เพื่อชี้แจงและวางมาตรการในทางปฏิบัติให้เป็นแนวเดียวกันทั่ว ประเทศ สอดรับกับพระราชบัญญัติวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนทีมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้น ปีนี้ มั่นใจว่าการพัฒนา ความเข้มแข็งของอำเภอ ตำบลหมู่บ้าน จะเป็นหัวใจสำคัญทำให้งานนโยบายบรรลุผลสำเร็จ สอดคล้องบริบทชุมชน
  • นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า บริการด้านที่ 2 คือด้านการจัดบริการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยทั่วประเทศ ซึ่งค่าเฉลี่ยประชาชนเข้าถึงบริการ 2-3 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งระบบเดิมเป็นการดูแลรายจังหวัด แต่ละโรงพยาบาลดำเนินการต่างคนต่างทำ แต่การบริการระบบใหม่นี้ได้แบ่งการบริหารจัดการออกเป็นเขตบริการสุขภาพ ทั้งหมด 13 เขตรวมกทม.ด้วย ดูแลประชาชนในอัตราใกล้เคียงกันประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการร่วมทรัพยากรร่วมกันทั้งโรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ บุคลากรร่วมกันภายใน 5-6 จังหวัดเป็นเครือข่ายบริการเดียวกัน ลงทุนพัฒนาโรงพยาบาลต่างๆ ตามความจำเป็นในพื้นที่ เพื่อดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยตั้งแต่เล็กน้อย ป่วยฉุกเฉิน จนถึงขั้นรุนแรง ต้องใช้เทคโนโลยีการรักษาเฉพาะเช่นมะเร็ง โรคหัวใจ อุบัติเหตุ โรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง เป็นต้น ประชาชนจะได้รับการดูแลที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมือนกันทุกเขตบริการ และอยู่ใกล้บ้าน ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น