นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ |
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดนกสายพันธ์ เอช 7 เอ็น 9 ( H7N9) ที่พบในประเทศจีนว่า จากการประชุมแพทย์เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ของโรค โดยไทยยังไม่พบทั้งคนและสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) และสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) แต่มีรายงานผลการตรวจขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศหรือโอไออี ( OIE) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2556 ว่า ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7 เอ็น 9 จากสัตว์ปีกในตลาดมณฑลเจ้อเจียง จำนวน 4 ตัวอย่าง และยังตรวจพบเชื้อดังกล่าวในตัวอย่างนกพิราบจากมณฑลเจียงชู 1 ตัวอย่าง โดยสัตว์ที่ตรวจพบเชื้อไม่มีอาการป่วย และแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนยังมีเพิ่มขึ้นก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญของไทยไม่แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองประชาชนโดยใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิในร่างกาย เพราะมีประโยชน์น้อย และขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน ประชาชนไม่ต้องตระหนก
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในสัตว์ปีก เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 น่าจะมีการพัฒนาอยู่ในนก แต่ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในนก และอาจแพร่ติดต่อมายังคน ทำให้คนมีอาการรุนแรงได้ จากการประเมินสถานการณ์ เชื้อไวรัสเอช 7 เอ็น 9 มีโอกาสแพร่มาสู่ไทยได้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิดไม่ว่าเป็นหรือตายแล้ว หากจำเป็นควรใส่ถุงมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะการแคะจมูกหรือขยี้ตาและให้หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ภายหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขดำเนินการเฝ้าระวังคนป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเฝ้าระวังสัตว์ปีกป่วยตายในพื้นที่ทุกวัน หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงขณะนี้ยังไม่รายงานความผิดปกติ สำหรับมาตรการการดูแลรักษาหากมีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมบุคลากรแพทย์ พยาบาล ยาต้านไวรัสทั้งชนิดกินและชนิดฉีด ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดบวมที่มีอาการรุนแรง และให้เพิ่มระบบการเฝ้าระวังเชื้อทางห้องปฏิบัติการทั้งเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย มีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบการเฝ้าระวังและระบบการทำงาน ประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่างประเทศและในประเทศ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น