วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลัดสธ.จุดไอเดีย จัดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกใหม่

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามผลการใช้ระบบบริหารจัดการรูปแบบใหม่ในรูปของเขตบริการสุขภาพ ที่ 4 ซึ่งประกอบด้วย  8 จังหวัด ได้แก่    นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ซึ่งมีนายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการประธานคณะกรรมการบริหารเขต จากนั้นลงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลโคกสำโรง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 120 เตียง โรงพยาบาลบ้านหมี่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 258 เตียง และโรงพยาบาลชัยบาดาล โรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง


นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการตรวจเยี่ยมราชการในวันนี้ เพื่อต้องการดูรูปแบบการบริหารและจัดบริการร่วมกันของโรงพยาบาลทั้งหมดภายในเขตในทางปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังดำเนินการตามรูปแบบเขตบริการสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา เพื่อดูแลประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมายหลัก ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยแรงงาน ผู้สูงอายุและ ผู้พิการ ให้ประชาชน เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและไร้รอยต่อ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเตียง กำลังคน การเงินการคลัง และติดตามปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการปฏิบัติจริงของพื้นที่ เพื่อนำไปปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ใน 3 ประเด็น คือ

  1. คุณภาพการจัดบริการ เช่น การลดเวลารอคอย 
  2. การบริหารกำลังคน การเงินร่วม 
  3. คุณภาพการดูแลรักษาการเจ็บป่วย 
โดยเขตบริการสุขภาพที่ 4 มีประชากรรับผิดชอบ ประมาณ 5 ล้านคน มีโรงพยาบาลทุกระดับ 71 แห่ง มีเตียงรับผู้ป่วยวันละ 6,435 เตียง มีแพทย์ 882 คน การบริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใช้เวลารอคอยโดยเฉลี่ย 1.50 ชั่วโมง
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองมีผู้ป่วยนอกแน่นแออัด เช่นที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 2,400 คน แนวการจัดการอาจจะต้องเพิ่มการกระจายศูนย์สุขภาพชุมชนรูปแบบใหม่ ที่เหมาะสมกับสภาพเขตเมืองที่มีความเจริญ เข้าถึงบริการง่าย เช่นในรูปแบบของโรงพยาบาลสาขาสะดวกใช้บริการ คล้ายกับร้านสะดวกซื้อ ประชาชนที่ป่วยทั่วๆไป อาการไม่รุนแรงเข้าถึงง่าย สะดวก เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมให้มากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างเต็มที่ ทั้งห้องผ่าตัด เตียงผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลใหญ่เป็นศูนย์ดูแลและรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาการหนักจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดหรือจังหวัดภายในเขต ซึ่งจะติดตามดูอีก 11 เขตที่เหลือด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น