นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ |
นายแพทย์ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นและเพียงพอในการจัดบริการประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายผลักดันสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งเป็นสถาบันที่อยู่ในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมากว่า 60 ปี ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาทางด้านการแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุขและสหเวชศาสตร์ต่างๆโดยตรง เพื่อดำเนินกิจการโดยอิสระ มีความคล่องตัว ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจบริบทชุมชน สามารถรองรับภารกิจ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของกระทรวงสาธารณสุขได้ สามารถประสาทปริญญาได้เหมือนสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ และขั้นต่อไปจะพัฒนาให้เป็นสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางแก่บุคลากรระดับหลังปริญญาด้วย ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่เรียน บุคลากร และการจัดการเรียนการสอนในระดับคลินิก เพื่อสร้างประสบการณ์แก่บุคลากร
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สาระหลักในร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ..... ฉบับนี้ จะมีหน่วยบริหารคือ สภาสถาบัน โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภา และมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เป็นกรรมการ เพื่อควบคุมดูแลกิจการด้านต่างๆเช่น อนุมัติแผนพัฒนา ออกระเบียบข้อบังคับ การอนุมัติการให้ปริญญา อนุมัติการเปิดสอนและหลักสูตรการศึกษา เป็นต้น มีสภาวิชาการ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการสถาบัน อธิการบดี สภาคณาจารย์และพนักงาน คณะกรรมการประจำส่วนงาน มีการประกันคุณภาพและการประเมิน การตรวจสอบกำกับดูแล เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยภาครัฐอื่น จากการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรภายใน พบว่าทุกส่วนให้การสนับสนุน หลังจากทำประชาพิจารณ์กับบุคคลภายนอก ในวันนี้ และปรับปรุงให้สมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อตราเป็นกฎหมาย บังคับใช้ต่อไปด้านนายแพทย์สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า สถาบันสถาบันพระบรมราชชนก ผลิตบุคลากรตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ขณะนี้มีวิทยาลัยในสังกัด 39 แห่ง มีบุคลากรทั้งหมด 4,080 คน จนถึงขณะนี้ได้ผลิตบุคลากรตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และปริญญาโท จำนวนแสนกว่าคน และใช้หลักสูตรมาตรฐานการศึกษาเดียวกับมหาวิทยาลัยภาครัฐ ในการรับนักศึกษาจะรับจากประชาชนในท้องถิ่นต่างๆทุกภูมิภาคของประเทศเข้าศึกษาและกลับไปทำงานในภูมิลำเนาตนเองหลังจบการศึกษา โดยสถาบันพระบรมราชชนกได้ร่วมเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน บัณฑิตสามารถสอบผ่านได้รับใบประกอบวิชาชีพได้สูงถึงร้อยละ 90 ของผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น