วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

แนวทางป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับประชาชน

 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น1 เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และมีวัคซีนป้องกัน ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่บางรายเช่น ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุมากกว่า 65ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ หญิงมีครรภ์ และผู้เป็นโรคอ้วน เป็นต้น โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อได้ง่าย ภายในครอบครัว ที่ทำงาน โรงเรียน โดยเชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แพร่จากผู้ป่วยเมื่อไอ จาม และปนเปื้อนอยู่ที่ภาชนะ ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได ราวรถโดยสาร และติดต่อเข้าสู่ร่างกายโดยมือที่เปื้อนเชื้อ เมื่อแคะจมูก ขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก เป็นต้น ในประเทศไทย ไข้หวัดใหญ่เกิดได้ตลอดปี โดยพบผู้ป่วยมาก ในช่วงกลางปี คือฤดูฝนต่อฤดูหนาวดังนั้นประชาชนทุกคนควรเอาใจใส่ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้

  1. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน ควรไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขจะให้วัคซีนฟรีแก่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเป็นประจำทุกปี 
  2. ผู้ที่เป็นหวัด สวมหน้ากากอนามัยปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชู หรือแขนเสื้อของตนเองเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ 
  3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิว และสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป 
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วย ในระยะ 1 เมตร และในพื้นที่ที่มีการระบาด ไม่ควรเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น สถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากจำเป็นเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวต้องป้องกันตนเองอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรสวมหน้ากากอนามัย 
  5. งดกิจกรรมการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงาน เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1วัน และในช่วงเวลาดังกล่าวหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  6. แหล่งที่มีคนอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร โรงเรียน มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อได้มาก ให้แยกผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไม่อยู่ปะปนกับคนอื่น ดูแลรักษาอาการ และให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ และไม่ควรออกกำลังกายหนัก มิฉะนั้นอาจทำให้อาการผู้ป่วยทรุดลง เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ 
  7. โรคนี้อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองเรื่อยๆแต่ หากนานเกิน2-3 วันยังไม่หายหรือไม่ดีขึ้น หรือเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422ตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น